แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อเรือเทียบท่าแล้วบริษัทส. เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าโดยบริษัทฟ. เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้าส่วนใบสั่งปล่อยสินค้านั้นเรือจะออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ส่งใบปล่อยสินค้าให้แก่ผู้รับและเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าดังนี้จำเลยเป็นผู้ติดต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อขอนำเรือเทียบท่าและติดต่อกรมศุลกากรเท่านั้นจำเลยจึงไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับบริษัทฟ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ออกกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลภายใต้เงื่อนไขสัญญาประกันภัยทางทะเลเปิดข้างต้นเพื่อรับประกันภัยสินค้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสั่งซื้อจากบริษัทซีซีเอ็ม ผู้ขายในประเทศแคนาดาจำนวน 181 หีบห่อ ซึ่งผู้ขายว่าจ้างบริษัทเฟดนาฟจำกัด ทำการขนส่งทางทะเล โดยเรือ “ลันเตา เทรดเดอร์” จากเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เพื่อส่งมอบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ ท่าเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ประเทศไทยในวงเงินประกันภัย 66,225,984.11 บาท วันที่ 19 ธันวาคม 2532เรือลันเตา เทรดเดอร์ เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือสัตหีบ จำเลยกระทำการเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายเพื่อส่งมอบสินค้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผู้รับตราส่ง และสามารถทำการส่งมอบสินค้าได้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2532 แต่ปรากฏว่าสินค้าได้รับความเสียหายหลายรายการเนื่องจากถูกกระแทก ทำให้แผงท่อผนังหม้อน้ำบุบ คดงอ รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 8,100,212.17 บาทโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 แล้วรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน8,100,212.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกจำนวน 16,644.32 บาท รวมเป็นเงิน 8,116,856.49 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 8,100,212.17 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำการขนส่งทางทะเลเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติร่วมกับบุคคลใด และไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลช่วงสุดท้าย จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือและไม่ได้ว่าจ้างบริษัทหรือจัดหาคนงานพร้อมเครื่องมือไปทำการขนส่ายสินค้าพิพาทขึ้นจากเรือ การที่จำเลยบอกกล่าวกำหนดการมาถึงของเรือแก่ผู้รับตราส่งตลอดจนติดต่อหน่วยงานราชการ เช่นกองตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทยและรับเวนคืนใบตราส่งเพื่อแลกกับใบสั่งปล่อยสินค้านั้น จำเลยกระทำการในฐานะตัวแทนตามที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทเฟดนาฟ จำกัดผู้ขนส่งซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศเท่านั้น การขออนุญาตนำเรือเข้าจอดที่ท่าและการค้ำประกันการปฏิบัติตามระเบียบและกฎกระทรวงส่วนการดำเนินการส่งสินค้าออกนั้นก็เป็นเรื่องตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามวิธีการขนส่งสินค้าทางทะเลสินค้าพิพาทไม่ได้เสียหายเท่าจำนวนที่โจทก์ฟ้อง คือหีบห่อหมายเลข เอ็มวาย31, 32, 43, 44, 46, 62, 1012, 1013, 1019, 1021, 1022, 2021,2025, 2026, 2031, 2627, 2630 ถึง 2632, 2652, 2670, 2674, 2687,2699 และ 2700 ไม่ได้รับความเสียหาย สำหรับหีบห่อหมายเลขอื่น ๆตามฟ้องโจทก์นั้นเสียหายเพียงเล็กน้อยสามารถซ่อมแซมได้และไม่มีความจำเป็นต้องสั่งซื้ออุปกรณ์มาเปลี่ยนใหม่คิดเป็นค่าซ่อมแซมความเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน 100,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมขนส่งกับบริษัทเฟดนาฟ จำกัด ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่าตามคำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัท ส.มงคลกิจ จำกัด เป็นผู้ขนถ่ายสินค้า ที่นายอำพลเบิกความว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทอื่นเป็นผู้ขนถ่ายสินค้านายอำพลก็ไม่ได้รู้เห็นเอง จึงเลื่อนลอย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่าเมื่อเรือเทียบท่าแล้วบริษัทส.มงคลกิจจำกัด เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าโดยบริษัทเฟดนาฟ จำกัด เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้า ส่วนใบสั่งปล่อยสินค้านั้นนายไพโรจน์พยานจำเลยก็เบิกความแต่เพียงว่า จำเลยเป็นผู้ส่งใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้รับเท่านั้น และนายอนุสรณ์พยานโจทก์เบิกความว่า เรือจะออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้ ทั้งโจทก์ไม่มีใบสั่งปล่อยสินค้ามาแสดง ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้า ข้อเท็จจริงคงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยเป็นผู้ติดต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อขอนำเรือเทียบท่าและติดต่อกรมศุลกากรเท่านั้น จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาท
พิพากษายืน