คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว ตามข้อ 1 และข้อ 5 ของกฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินจากเดิมซึ่งให้กำหนดโดยถือราคาตามมาตรา 21 (2) หรือ(3) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์ มาเป็นว่าให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 และเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสี่ไว้เป็นพิเศษใน พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 (1) ถึง (5) ประกอบกัน ดังนั้นการที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดเงินค่าทดแทนตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2531 ถึง 2534 เพียงอย่างเดียวจึงยังไม่เป็นธรรม
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า “การคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสองหรือราคาลดลงตามวรรคสามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา” ปรากฏว่าได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืน พ.ศ.2537 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2537 ต่อมาได้มี พ.ร.ฎ.ยกเลิก พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืน พ.ศ.2537 พ.ศ.2538 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538เท่ากับว่าขณะนี้ไม่มี พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณราคาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสาม กำหนดหลักการไว้ว่าถ้าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทน หรือทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะส่วนที่ราคาลดลงด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น ถ้าไม่หักราคาที่สูงขึ้นออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะไม่เป็นธรรมแก่สังคม หรือถ้าไม่กำหนดเงินค่าทดแทนเฉพาะส่วนที่ลดลงให้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนหรือโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญดังกล่าว ส่วนบทบัญญัติมาตรา 21 วรรคสี่ นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม เท่านั้น แม้ยังไม่มี พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณออกใช้บังคับ ก็หาใช่เหตุที่จะทำให้ไม่สามารถนำหลักการสำคัญดังกล่าวมาใช้บังคับได้ไม่ ถ้าได้ความว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ทั้งสี่มีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ศาลย่อมมีอำนาจนำราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนหรือกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งราคาลดลงได้
ฝ่ายจำเลยไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินหรือวางเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือแจ้งราคาค่าทดแทนและแจ้งการเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น เมื่อคิดคำนวณและหักกลบลบกันกับเงินค่าทดแทนแล้วเกลื่อนกลืนกันไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้สำหรับที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนจำเลยที่ 1 มีความจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ทำการก่อสร้างทางหลวง จึงแจ้งการเข้าครอบครองที่ดินหลังจากครบกำหนด 60 วัน นับจากวันที่โจทก์ทั้งสี่ได้รับหนังสือโจทก์ทั้งสี่ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2534 ดังนั้น วันที่ถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วัน อันเป็นวันที่ฝ่ายจำเลยมีสิทธิเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสี่คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2535 แต่ก่อนการเข้าครอบครองหรือใช้ที่ดินนั้น เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ต้องจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 13 ก่อนเมื่อโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนเป็นเงิน 2,505,000บาท โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลกำหนดให้เพิ่มขึ้นจากที่ฝ่ายจำเลยกำหนดด้วย นับแต่วันที่ฝ่ายจำเลยมีสิทธิเข้าครอบครองที่ดินโจทก์ทั้งสี่คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2535 อันถือได้ว่าเป็นวันที่ต้องจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคท้าย ส่วนอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นอัตราขึ้นลงไม่คงที่โดยเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ทั้งสี่ขอ
โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3742 โดยมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของทุกส่วนรวมกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการเวนคืนที่ดินดังกล่าวมาจำนวนเดียวกัน เป็นการใช้สิทธิร่วมกัน มิใช่กรณีที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัว โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ชำระค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์รวม มิใช่แยกชำระค่าขึ้นศาลเป็นรายบุคคล ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสี่ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเกิน 200,000 บาทมานั้นไม่ถูกต้อง สมควรสั่งคืนส่วนที่เกินให้แก่โจทก์ทั้งสี่

Share