แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้กรอกข้อความในสัญญาเช่าซื้อฉบับพิพาทตรงตามข้อตกลงระหว่างจำเลยกับโจทก์ และเช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายซึ่งจำเลยทราบดีว่าจำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระเงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์ในวันใด เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งตามวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท จำเลยมีเงินในบัญชีไม่พอจ่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อได้ระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ผู้เช่าซื้อตกลงยินยอมให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันสิ้นสุดทันที สัญญาเช่าซื้อที่ทำกันไว้จึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่ไม่กระทบถึงสิทธิเรียกค่าเสียหายก็ตาม ปรากฏว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยได้ออกให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อในขณะมีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทซึ่งจ่ายชำระเงินค่าเช่าซื้องวดแรกและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกัน แต่มูลหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามเช็คพิพาทยังคงมีอยู่ หาได้ระงับหรือสิ้นผลผูกพันไปไม่ หาใช่เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วจะทำให้มูลหนี้ในคดีสิ้นความผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ คดีจึงยังไม่เลิกกัน