แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้ยืมเงินมีข้อความระบุชัดเจนว่าจำเลยได้รับเงิน80,000 บาท ไปแล้วในวันทำสัญญา การที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวน 80,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เนื่องจากโจทก์นำหนี้เงินกู้เดิม10,000 บาท รวมกับยอดหนี้เงินกู้ใหม่ 13,000 บาท แล้วโจทก์คิดต้นเงินรวมกับดอกเบี้ยเป็นจำนวน 70,000 บาท โดยให้จำเลยผ่อนชำระเดือนละ 1,000 บาทเป็นเวลา 70 เดือน เป็นการนำสืบว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์จำนวนเท่าใดไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94 (ข) แต่เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามมาตรา 94 วรรคท้าย จำเลยย่อมนำสืบได้
จำเลยกู้เงินโจทก์ 23,000 บาท มิใช่ 80,000 บาท ตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงิน และโจทก์คิดดอกเบี้ยโดยนำต้นเงินรวมกับดอกเบี้ยเป็นจำนวน70,000 บาท แล้วให้จำเลยชำระเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 70 เดือนเมื่อคำนวณแล้วได้เป็นอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ
ป.วิ.พ.มาตรา 161 และ 167 บัญญัติให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ดังนั้น แม้ว่าในคำให้การของจำเลยมิได้ขอให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย คดีนี้จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้ง คำให้การของจำเลยที่ขอให้ศาลไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทและที่จำเลยไม่ได้ขอให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยไม่ใช่คำขอท้ายคำฟ้อง จึงไม่มีกรณีที่ศาลจะพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องของจำเลย