คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา25วรรคหนึ่ง(เดิม)บัญญัติให้สิทธิผู้ที่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนและขั้นตอนในการดำเนินการเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนั้นหลังจากที่คณะกรรมการได้กำหนดราคาแล้วจะมีหนังสือเชิญให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ทำสัญญาและให้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนในภายหลังส่วนผู้ที่ไม่ยอมทำสัญญาการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยจะนำเงินไปวางที่ธนาคารออมสินวันที่นัดให้มารับเงินนั้นจำเลยจะต้องมีหนังสือแจ้งไปให้เจ้าของทราบอีกทีหนึ่งในทางปฏิบัติหากเจ้าของที่ถูกเวนคืนไม่ตกลงทำสัญญาด้วยจำเลยจะไม่มีหนังสือให้มารับเงินที่จำเลยจะให้ไปรับเงินที่ธนาคารออมสิน ฝ่ายจำเลยถือว่าหนังสือขอเชิญให้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนเป็นหนังสือเชิญให้มาทำสัญญาซื้อขายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา10มิใช่หนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา25วรรคหนึ่งกรณีของโจทก์ทั้งสองนั้นหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา25วรรคหนึ่งคือหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนฉบับวันที่30สิงหาคม2533โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือการวางเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่1กันยายน2533และได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่29ตุลาคม2533จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในเวลา60วันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา25วรรคหนึ่งโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา26วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ที่1ไม่สามารถประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างในที่ดินของโจทก์ที่2ซึ่งถูกเวนคืนโจทก์ที่1ต้องเสียทำเลทางการค้าเสียเวลาในการหาสถานที่ประกอบกิจการค้าแห่งใหม่ไม่สะดวกต่อการติดต่อกับลูกค้าทำให้เสียลูกค้าและขาดรายได้อันถือได้ว่าโจทก์ที่1ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนจำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจกท์ที่1ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคห้า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคสองและวรรคสามเป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียวในทางตรงกันข้ามหากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้วหากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา21ที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมส่วนมาตรา21วรรคสี่นั้นเป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา21เท่านั้นแม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา21วรรคสี่ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา21วรรคสองและวรรคสามใช้ไม่ได้หากปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์ที่2มีราคาลดลงเพราะการเวนคืนแล้วก็ต้องกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงด้วยแต่ที่ดินโฉนดเลขที่21685ของโจทก์ที่2มิได้มีส่วนใดถูกเวนคืนเลยจึงไม่เข้ากรณีที่จะได้เงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงเพราะเหตุการเวนคืนตามมาตรา21วรรคสามส่วนที่ดินโฉนดเลขที่21686ของโจทก์ที่2เนื้อที่107ตารางวาถูกเวนคืนเพียง19ตารางวาเหลือ88ตารางวานั้นเป็นที่ดินที่ไม่ได้อยู่ติดกับถนนแจ้งวัฒนะคงติดกับถนนซอยกว้างเกิน4เมตรเมื่อถูกเวนคืน19ตารางวาแล้วที่ดินที่เหลือ88ตารางวาก็ยังคงติดกับถนนซอยกว้างเกิน4เมตรเหมือนเดิมและเนื้อที่ดินลดลงเพียงเล็กน้อยยังคงใช้ประโยชน์ได้แตกต่างจากเดิมไม่มากและหลังจากสร้างทางสายบางโคล่-แจ้งวัฒนะเสร็จแล้วทำให้ที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ที่2แปลงนั้นอยู่ใกล้กับทางขึ้นลงทางด่วนด้วยย่อมไม่ทำให้ที่ดินของโจทก์ที่2ที่เหลือจากการเวนคืนดังกล่าวนั้นราคาลดลง เมื่อจำเลยทั้งสองต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา26วรรคสามซึ่งอัตราสูงสุดนี้ในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามประกาศของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่วันฟ้องคือวันที่23ธันวาคม2534ตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 30245, 21686, 21688, 21689 ตำบลคลองเกลืออำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยอาคารและโรงเก็บสินค้าเลขที่ 20/1 และ 20/10 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว โจทก์ที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดและเป็นเจ้าของสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างในโรงเก็บสินค้าดังกล่าว เมื่อปี 2530ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีและเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางโคล่ – แจ้งวัฒนะและสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2533 จำเลยทั้งสองได้แจ้งให้โจทก์ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนโดยแจ้งว่าที่ดินของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ 2ถูกเวนคืนโดยที่ดินของโจทก์ที่ 2 ถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 586 ตารางวาซึ่งในที่ดินของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวมีสิ่งปลูกสร้างคือโรงเรือนเลขที่ 20/10 เป็นอาคาร 4 ชั้น อาคารไม้ชั้นเดียวและโกดังเก็บสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง บ้านสองชั้นเลขที่ 20/1รั้วคอนกรีตและประตูรั้ว ลานคอนกรีต ศาลพระภูมิ ท่อระบายน้ำรั้วไม้ระแนงบ่อเลี้ยงปลาและไม้ยืนต้น โดยจำเลยทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 12,167,465.68 บาท(ค่าทดแทนสำหรับโจทก์ที่ 1 คือค่าทดแทนที่ดินและไม้ยืนต้นรวมเป็นเงิน 6,861,100 บาท ค่าทดแทนสำหรับโจทก์ที่ 2 คือสิ่งปลูกสร้างและไม้ยืนต้นรวมเป็นเงิน 5,306,365.68 บาท) เงินค่าทดแทนดังกล่าวที่จำเลยทั้งสองกำหนดเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ที่ 2 ในขณะที่จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนนั้นตารางวาละ 250,000 บาท และสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ 2 หากก่อสร้างในระยะเวลาดังกล่าวจะต้องใช้ค่าแรงงานและค่าวัสดุไม่ต่ำกว่า 24,960,435.58 บาทในส่วนของโจทก์ที่ 1 นั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้กำหนดค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากต้องออกจากที่ดินบริเวณดังกล่าวและไม่สามารถประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้างได้ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายสำหรับโจทก์ที่ 2 คือที่ดินตารางวาละ 250,000 บาท จำนวน586 ตารางวา เป็นเงิน 146,500,000 บาท และทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 21685 ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีเนื้อที่ 111 ตารางวาอันมิได้ถูกเวนคืนแต่อยู่ติดกับแปลงที่ถูกเวนคืนและต้องใช้ประโยชน์ด้วยกันเมื่อเหลือเพียงที่ดินดังกล่าวจึงทำให้ราคาของที่ดินแปลงนี้ราคาลดลง อีกทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 21686 ที่เหลือ 88 ตารางวาใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่จึงมีราคาลดลง ขอคิดราคาที่ลดลงตารางวาละ100,000 บาท รวมเป็นเงิน 19,900,000 บาท ค่าสิ่งปลูกสร้าง24,960,435.58 บาท ไม้ยืนต้น 234,000 บาท ค่าขนย้ายทรัพย์สิน516,800 บาท รวมค่าทดแทนของโจทก์ที่ 2 จำนวน 192,111,235.58 บาทค่าทดแทนความเสียหายของโจทก์ที่ 1 เนื่องจากต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนโดยคิดเป็นค่าขาดรายได้จากการค้าวัสดุก่อสร้าง ซึ่งโจทก์ที่ 1 เคยมีรายได้ปีละ 3 – 5 ล้านบาทโจทก์จึงคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 34,096.390 บาทค่าขาดรายได้อื่นเป็นเงิน 15,000,000 บาทและค่าที่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำเนื่องจากต้องเลิกกิจการจำนวน 5 รายเป็นเงิน 891,250 บาท รวมเป็นค่าทดแทนของโจทก์ที่ 1 ทั้งสิ้น49,987,640 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 242,098,875.58 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นธรรมแล้วโดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดราคาที่ดินตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 9 และมาตรา 21(2)หรือ(3) ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างตามมาตรา 21(1) ค่าทดแทนไม้ยืนต้นถือตามราคาของกองส่งเสริมพืชพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนซึ่งที่ดินของโจทก์ที่ 2 อยู่ในเขตที่จะถูกเวนคืนดังกล่าวใช้บังคับต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์ขอค่าทดแทนเพิ่มคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เพิ่มค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 21686 อีกตารางวาละ 600 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 12,178,865.78 บาทและหลังจากมีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44แล้วคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้นอีก 11,998,011 บาทที่โจทก์ที่ 2 กล่าวอ้างว่าราคาซื้อขายที่ดินในปัจจุบันตารางวาละ250,000 บาทนั้น เป็นการกล่าวอ้างขึ้นเอง ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการซื้อขายกันด้วยราคาเช่นนั้น การประกอบการค้าวัสดุก่อสร้างหาจำเป็นที่จะต้องมีอยู่เฉพาะบริเวณที่โจทก์ถูกเวนคืนไม่จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 ในส่วนนี้ที่ดินของโจทก์ที่ 2 โฉนดเลขที่ 21685 มิได้ถูกเวนคืน โจทก์ที่ 2ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนได้รับประโยชน์จากการที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างถนนจากซอยทะลุไปสู่ถนนแจ้งวัฒนะราคาจึงหาได้ลดลงไม่ จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อเตรียมตัวได้แต่เนิ่น ๆ โจทก์ที่ 1 จึงไม่เสียหายจากการออกจากอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้ขาดรายได้จากการประกอบการค้า ไม่ได้ขาดรายได้อื่น และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่ต้องเลิกกิจการโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยแต่อย่างใดถึงแม้จะมีสิทธิก็เรียกได้ไม่เกิน 20,000 บาท ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนจึงหมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทน จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างโดยมีนายสินธุชัย กาญจนอักษรสามีของโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 30245, 21686, 21688 และ 21689ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกันตั้งอยู่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีรวมเนื้อที่ 682 ตารางวา และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคาร 4ชั้น 3 คูหา เลขที่ 20/1 และบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้เลขที่ 20/1ตลอดทั้งอสัหาริมทรัพย์อื่นซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว โจทก์ที่ 1ประกอบกิจการอยู่ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวของโจทก์ที่ 2เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2530 มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ- บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ มีผลใช้บังคับวันที่1 มกราคม 2531 เป็นเหตุให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ 2อยู่ในบริเวณที่จะถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 586 ตารางวา และโจทก์ที่ 1ไม่สามารถประกอบกิจการค้าในที่ดินดังกล่าวต่อไปได้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2533 จำเลยทั้งสองมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองรวมเป็นเงิน12,167,465.68 บาท ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.4 โจทก์ทั้งสองไม่ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2533จำเลยทั้งสองมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่า ได้นำเงินค่าทดแทนเบื้องต้นดังกล่าวไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินสาขาปากเกร็ดเพื่อให้โจทก์ทั้งสองไปรับเอา ตามเอกสารหมาย จ.13โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯเอกสารหมาย ล.22 วันที่ 29 ตุลาคม 2533 โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้กำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้นตามสำเนาอุทธรณ์เอกสารหมาย ล.5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2เพิ่มขึ้นอีก 11,400 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยทั้งสอง ระหว่างพิจารณาคดีได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยทั้งสองได้พิจารณาเพิ่มค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 2 เพิ่มขึ้นอีก 11,989,236.90 บาทตามเอกสารหมาย ล.27 รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์ที่ 2 ทั้งสิ้น 24,168,102.58 บาทมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 และไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนด ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง อันจะทำให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องหรือไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยบัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือมาตรา 23 กำหนดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว” และมาตรา 26 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ใดรับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี” เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง(เดิม)บัญญัติให้สิทธิผู้ที่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนายจิรวัฒน์ สมุทรอัษฎงค์ หัวหน้าแผนกสอบสวนสิทธิกองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ 1 และนายวรวิทย์ สุขพูล นิติกร 6 กองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ 1พยานจำเลยทั้งสองซึ่งเบิกความถึงขั้นตอนในการดำเนินการเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าทดแทนของจำเลยทั้งสองให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนว่า หลังจากที่คณะกรรมการได้กำหนดราคาแล้วจะมีหนังสือเชิญให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ทำสัญญาและให้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนในภายหลัง ส่วนผู้ที่ไม่ยอมทำสัญญา จำเลยจะนำเงินไปวางที่ธนาคารออมสิน วันที่นัดให้มารับเงินนั้น จำเลยจะต้องมีหนังสือแจ้งไปให้เจ้าของทราบอีกทีหนึ่ง ในทางปฏิบัติหากเจ้าของที่ถูกเวนคืนไม่ตกลบทำสัญญาด้วย จำเลยจะไม่มีหนังสือให้มารับเงินที่จำเลย จะให้ไปรับเงินที่ธนาคารออมสิน และตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนเอกสารหมาย ล.22 และ ล.23 ระบุว่าโจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ยื่นอุทธรณ์ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนเป็นอุทธรณ์ที่ชอบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530แล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองแล้วสรุปผลการพิจารณาแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งต่อมากระทรวงมหาดไทยได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์แก่โจทก์ทั้งสองทราบ ตามเอกสารหมาย จ.5 นอกจากนี้ตามหนังสือขอเชิญให้โจทก์ทั้งสองไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนเอกสารหมาย ล.2 และ ล.4 ตอนท้าย ก็ระบุว่า หากโจทก์ทั้งสองไม่ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะดำเนินการวางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองตามกฎหมายต่อไปจากพยานหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทางปฏิบัติของฝ่ายจำเลยถือว่า หนังสือขอเชิญให้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.4 เป็นหนังสือเชิญให้มาทำสัญญาซื้อขายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 10 มิใช่หนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง กรณีของโจทก์ทั้งสองนั้น หนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง คือหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนฉบับวันที่ 30 สิงหาคม 2533 โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือการวางเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 และได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2533 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง และปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่เหลือกับปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองนั้นมีข้อความและข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองและจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายแล้วเพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวได้แล้วศาลฎีกาเห็นสมควรพิจารณาไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 1มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนหรือไม่ เพียงใด และจำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 2 เป็นจำนวนที่ถูกต้องและเป็นธรรมแล้วหรือไม่สำหรับโจทก์ที่ 1 อ้างว่า โจทก์ที่ 1 ประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 30245,21689, 21688 และ 21686 ของโจทก์ที่ 2 เมื่อที่ดินดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 ถูกเวนคืนโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขาดรายได้เนื่องจากการที่ต้องต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งใช้เป็นสถานประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างตลอดทั้งทำการเป็นตัวแทนในทางการค้าคิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 49,096,390 บาทและโจทก์ที่ 1 ต้องเลิกจ้างลูกจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยจำนวน891,250 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 49,987,640 บาท นั้นนายสินชัย กาญจนอักษร หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ที่ 1นายไพบูลย์ กาญจนอักษร และนายไพศาล กาญจนอักษร บุตรของนายสินชัย และโจทก์ที่ 2 ซึ่งทำงานอยู่ห้างหุ้นส่วนโจทก์ที่ 1เบิกความว่าโจทก์ที่ 1 ประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างรวมทั้งเป็นตัวแทนในทางการค้าในที่ดินของโจทก์ที่ 2มานานประมาณ 30 ปี กิจการเจริญรุ่งเรืองขึ้นทุกปีมีชื่อเสียงดีและเป็นที่เชื่อถือแก่ลูกค้าในบริเวณใกล้เคียงโจทก์ที่ 1 มีรายได้จากการประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างปีละ 3,000,000 ถึง 5,000,000 บาทและจากการเป็นตัวแทนในด้านการค้าปีละ 2,000,000 บาทโจทก์ที่ 1 เลิกกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2535 ต้องเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 คน เสียเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างรวม891,250 บาท เห็นว่า โจทก์ที่ 1 มิได้นำหลักฐานเกี่ยวกับรายรับและรายจ่ายประจำปีของโจทก์ที่ 1 มาแสดง กลับได้ความตามคำเบิกความของนายสินชัยตอบคำถามค้านว่า โจทก์ที่ 1 เคยยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งแสดงรายรับปีละประมาณ3,000,000 บาท เมื่อหักรายจ่ายแล้วโจทก์ที่ 1 จะได้กำไรปีละ200,000 บาท ถึง 300,000 บาท ประกอบกับได้ความจากนายไพบูลย์ กาญจนอักษร หุ้นส่วนของโจทก์ที่ 1 พยานโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ที่ 1 เพิ่งเลิกประกอบกิจการในที่ดินที่ถูกเวนคืนตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2535 โดยที่โจทก์ทั้งสองได้ทราบก่อนแล้วอย่างน้อยก็เกือบ 3 ปี ว่า อสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ใช้ประกอบการค้าวัสดุก่อสร้างนั้นจะต้องถูกเวนคืนตามสำเนาหนังสือขอเชิญให้ไปติดต่อขอรับค่าทดแทนลงวันที่ 30 มีนาคม 2533 ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้รับในวันที่ 1 เมษายน 2533 ดังนั้น โจทก์ที่ 1จึงมีเวลานานพอสมควรที่จะหาสถานที่ประกอบกิจการค้าแห่งใหม่ส่วนค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างก็นำสืบไม่ได้ว่าจ่ายไปจริง อย่างไรก็ดีการที่โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างในที่ดินของโจทก์ที่ 2 ซึ่งถูกเวนคืนโจทก์ที่ 1 ต้องเสียทำเลทางการค้า เสียเวลาในการหาสถานที่ประกอบกิจการค้าแห่งใหม่ไม่สะดวกต่อการติดต่อกับลูกค้าทำให้เสียลูกค้าและขาดรายได้อันถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนจำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคห้า แต่โจทก์ที่ 1 นำสืบเกี่ยวกับค่าเสียหายไม่สมข้ออ้าง จึงเห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท
ส่วนโจทก์ที่ 2 ควรได้รับค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับไม้ยืนต้นที่ถูกเวนคืนเท่าใดนั้น สำหรับค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ 2 ที่ถูกเวนคืนซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 2 ผู้ถูกเวนคืนและสังคมคือราคาเฉลี่ยตารางวาละ 60,000 บาท ที่ดินของโจทก์ที่ 2 ถูกเวนคืน 586 ตารางวา เป็นเงิน35,160,000 บาท จำเลยทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว 17,124,000 บาท โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นอีก 18,036,000 บาท สำหรับค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างและไม้ยืนต้นนั้น โจทก์ที่ 2 กล่าวอ้างแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม แต่โจทก์ที่ 2 นำสืบให้เห็นไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างและไม้ยืนต้นให้แก่โจทก์ที่ 2ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมอย่างไร จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ที่ 2ตามราคาวัสดุของกองระดับราคากรมเศรษฐกิจการพาณิชย์กระทรวงพาณิชย์ที่ประกาศใช้อยู่ในวันพระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับและไม้ยืนต้นกำหนดค่าทดแทนตามราคาของกองส่งเสริมพืชพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมเป็นค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างและไม้ยื่นต้นที่จำเลยทั้งสองกำหนดโจทก์ที่ 2 (5,306,365.68 + 1,735,011.10) 7,041,376.78 บาทจึงเป็นจำนวนที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 2 แล้ว
โจทก์ที่ 2 ฎีกาอีกว่า ที่ดินแปลงที่ไม่ถูกเวนคืนและแปลงที่ถูกเวนคืนบางส่วนมีราคาลดลงเพราะโจทก์ที่ 2 เคยใช้ประโยชน์ร่วมกันกับที่ดินแปลงด้านหน้าที่ติดถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อจำเลยทั้งสองเวนคืนที่ดินด้านหน้า ทำให้ที่ดินแปลงที่เหลือติดทางต่างระดับของจำเลยทั้งสอง แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากจำเลยทั้งสองทำรั้วล้อมไว้ โจทก์ที่ 2 ต้องใช้ทางซอยด้านหลังซึ่งเป็นซอยแคบและอ้อม ทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ที่ 2ลดลงตารางวาละ 100,000 บาท จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่าในขณะนั้นรัฐบาลยังมิได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง จึงไม่อาจที่จะจ่ายค่าทดแทนในส่วนที่ลดลงได้ ทั้งที่ดินของโจทก์ที่ 2ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากได้รับประโยชน์จากการที่จำเลยสร้างทางด่วนระบบพิเศษสายบางโคล่ – แจ้งวัฒนะเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืน ได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนและวรรคสามบัญญัติว่าถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามนี้เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียว ในทางตรงกันข้าม หากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้วหากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21ที่ให้กำหนดตอบทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 เท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา 21 วรรคสี่ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้ไม่ได้ หากปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์ที่ 2 มีราคาลดลงเพราะการเวนคืนแล้วก็ต้องกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงด้วย แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 21685 ของโจทก์ที่ 2 มิได้มีส่วนใดถูกเวนคืนเลย จึงไม่เข้ากรณีที่จะได้เงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงเพราะเหตุการเวนคืนตามมาตรา 21 วรรคสาม ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 21686 ของโจทก์ที่ 2 เนื้อที่ 107 ตารางวา ถูกเวนคืนเพียง 19 ตารางวาเหลือ 88 ตารางวา นั้น โจทก์ที่ 2 กับสามีโจทก์ที่ 2 เบิกความเพียงลอย ๆ ว่าการเวนคืนทำให้ราคาที่ดินส่วนที่เหลือลดลงตารางวาละ100,000 บาท เพราะไม่สามารถจะใช้ประกอบกิจการอะไรได้และการจดออกมาถนนแจ้งวัฒนะต้องอ้อมไปออกทางอื่นเห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 21686 ของโจทก์ที่ 2 เป็นที่ดินที่ไม่ได้อยู่ติดกับถนนแจ้งวัฒนะคงติดกับถนนซอยกว้างเกิน 4 เมตรเมื่อถูกเวนคืน 19 ตารางวา แล้ว ที่ดินที่เหลือ 88 ตารางวา ก็ยังคงติดกับถนนซอยกว้างเกิน 4 เมตร เหมือนเดิมและเนื้อที่ดินลดลงเพียงเล็กน้อยยังคงใช้ประโยชน์ได้แตกต่างจากเดิมไม่มากทั้งได้ความจากนายธนรัตน์ ยศวิมล นิติกรของจำเลยที่ 1พยานจำเลยทั้งสองว่า หลังจากสร้างทางสายบางโคล่ – แจ้งวัฒนะเสร็จแล้วทำให้ที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ที่ 2อยู่ใกล้กับทางขึ้นลงทางด่วนจึงเชื่อว่า ที่ดินของโจทก์ที่ 2ที่เหลือจากการเวนคืนดังกล่าวนั้นราคาไม่ลดลง
อนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวข้างต้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสามซึ่งอัตราสูงสุดนี้ในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามประกาศของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องคือวันที่ 23 ธันวาคม 2534 ตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 500,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 18,036,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share