แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการ เช่านา พ.ศ. 2493มุ่งคุ้มครองผู้เช่านาผู้อื่นทำ ให้มีสิทธิเช่าทำได้ติดต่อกันไปมีกำหนด 5 ปีนับแต่วันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับในกรณีตามอนุมาตรา (1) หรือนับแต่วันทำสัญญาเช่าในกรณีตามอนุมาตรา (2)การที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่า การเช่ารายใดจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าการเช่ารายนั้นได้ทำสัญญาเช่ากันมาตั้งแต่เมื่อใด เกิน 5 ปีตามสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองแล้วหรือไม่ จะถือเอาหนังสือสัญญาเช่าฉบับใดฉบับหนึ่งที่ทำกันไว้เป็นเกณฑ์พิจารณาแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ จำเลยได้ทำสัญญาเช่าทำนาพิพาทกับโจทก์เป็นรายปีทุกปีติดต่อกันมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ถึงปีพ.ศ. 2514ระยะเวลากว่า 5 ปีแล้ว จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองให้มีสิทธิเช่าต่อได้อีกต่อไป มิใช่ว่าเมื่อจำเลยประสงค์จะเช่าต่อไปแล้วสัญญาเช่าฉบับที่ทำกันเมื่อ พ.ศ. 2514 นั้นยังมีอายุต่อไปอีก 5 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๔ จำเลยได้เช่านาโฉนดเลขที่ ๙๑๘ ค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกไร่ละ ๔ ถังต่อปี สัญญาเช่ามีกำหนดถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๑๕ จำเลยเช่านาทำติดต่อกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘โจทก์ไม่ประสงค์จะให้เช่าทำต่อไป ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๑๕ จำเลยทราบแล้วกลับละเมิดเข้าไปทำนาขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๑๘
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคู่กรณียังไม่ได้เสนอเรื่องข้อพิพาทตามความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. ๒๔๙๓ แม้สัญญาเช่าตามฟ้องหมดอายุ จำเลยก็ยังมีสิทธิเช่าทำอีก ๔ ปีตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพร้อม คู่ความท้ากันขอให้ศาลวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่าจำเลยจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. ๒๔๙๓ ต่อไปอีก ๔ ปีหรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาอีกต่อไป พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นาพิพาทอยู่ในท้องที่และตกอยู่ในบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตั้งแต่วันที่๕ พฤษภาคม ๒๔๙๔ จำเลยได้ทำสัญญาเช่านาพิพาทกับโจทก์หลังพระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้ กล่าวคือ ได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์เป็นรายปีทุกปีมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ติดต่อกันจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นเวลาเกินกว่า ๕ ปีแล้ว มีปัญหาว่า จำเลยยังจะได้รับความคุ้มครองให้เช่าได้ต่อไปอีกหรือไม่ บทบัญญัติที่เกี่ยวกับข้อโต้แย้งของคู่ความคือมาตรา ๙แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในท้องที่ใดแล้ว
(๑) สัญญาเช่านารายใดซึ่งได้ทำไว้ก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกาไม่มีกำหนดเวลา หรือมีกำหนดเวลาแต่ต่ำกว่าห้าปี ถ้าผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไปให้สัญญาเช่ารายนั้นมีอายุต่อไปได้ไม่เกินห้าปีนับแต่วันประกาศพระราชกฤษฎีกา
(๒) สัญญาเช่านารายใดซึ่งได้ทำไว้ในหรือหลังวันประกาศพระราชกฤษฎีกาไม่มีกำหนดเวลา หรือกำหนดเวลาแต่ต่ำกว่าห้าปี ถ้าผู้เช่าประสงค์ ก็ให้สัญญาเช่ารายนั้นมีอายุไม่เกินห้าปีนับแต่วันทำสัญญา”
พิเคราะห์แล้ว บทบัญญัติมาตรา ๙ นี้ มุ่งคุ้มครองผู้เช่านาบุคคลอื่นทำให้มีสิทธิเช่าทำได้ติดต่อกันไปมีกำหนด ๕ ปี นับแต่วันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับในกรณีตามอนุมาตรา (๑) หรือนับแต่วันทำสัญญาเช่าในกรณีตามอนุมาตรา (๒) กำหนดเวลาที่คุ้มครองให้มีสิทธิเช่าในรายที่ทำสัญญาเช่ากันไม่ถึง ๕ ปี ให้เช่าต่อไปได้จนครบ ๕ ปี ทุกรายไปการคุ้มครองนี้คุ้มครองตลอดจนรายที่ไม่ได้ทำหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือด้วยดังนั้น การที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่าการเช่ารายใดจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าการเช่ารายนั้นได้ทำสัญญาเช่ากันมาตั้งแต่เมื่อใด เกิน ๕ ปี ตามสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองแล้วหรือไม่ จะถือเพียงหนังสือสัญญาเช่าฉบับใดฉบับหนึ่งที่ทำกันไว้เป็นเกณฑ์พิจารณาแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ที่มุ่งคุ้มครอง เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ จำเลยได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์เป็นรายปีทุกปีติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ถึงปีพ.ศ. ๒๕๑๔ ระยะเวลากว่า ๕ ปีแล้วเช่นนี้ จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองให้มีสิทธิเช่าต่อได้อีกต่อไป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ เป็นให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสามศาลเป็นพับกันไป