แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คผู้ถือ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง และโจทก์เป็นผู้ถือเช็คพิพาท โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904และมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามเช็คได้ จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ให้เช็คพิพาทแก่มารดาโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้วเช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ เป็นคำให้การที่กล่าวถึงความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยกับมารดาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทโดยคบคิดกันฉ้อฉลกับมารดาโจทก์ เท่ากับไม่ได้ยกมาตรา 916 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขึ้นต่อสู้ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดตามเนื้อความในเช็คโดยไม่ต้องวินิจฉัยว่าเช็คมีมูลหนี้หรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 100,000 บาทชำระหนี้ให้โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ลงชื่อสลักหลัง และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าดอกเบี้ย 1,250 บาท รวมกับต้นเงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 101,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 101,250 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 100,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้มารดาโจทก์เพื่อเป็นการประกันเงินจำนวน 100,000 บาทที่จำเลยทั้งสองรับจากมารดาโจทก์ไปซื้อข้าวเปลือก โดยมีจำเลยที่ 2สลักหลัง ต่อมาจำเลยทั้งสองส่งมอบข้าวเปลือกให้มารดาโจทก์หักใช้เงินจำนวนดังกล่าวจนครบแล้ว แต่ไม่ได้รับคืนเช็คพิพาทเพราะมารดาโจทก์อ้างว่าเช็คพิพาทสูญหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องรับผิดตามเช็คซึ่งโจทก์กรอกขึ้นเองในภายหลังโดยไม่มีมูลหนี้ โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงเช็ค ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยทั้งสอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าเหตุใดจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้อง คำให้การ และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 100,000 บาทจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังจริงและเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือโจทก์เป็นผู้ถือเช็คพิพาท ดังนั้นจึงถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คได้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เช็คพิพาทมีมูลหนี้หรือไม่ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้มารดาโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเพื่อเป็นประกันในการที่จำเลยทั้งสองรับเงินจากมารดาโจทก์ไปจำนวน 100,000 บาทเพื่อไปซื้อข้าวเปลือกจากชาวนานำมาขายให้มารดาโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ซื้อข้าวเปลือกนำมาขายแก่มารดาโจทก์จนครบถ้วนแล้วไม่มีหนี้ต่อกัน เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ คำให้การดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยกับมารดาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อน โดยจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทโดยคบคิดกันฉ้อฉลร่วมกับมารดาโจทก์ เท่ากับจำเลยไม่ได้ยกมาตรา 916 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นต่อสู้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า เช็คพิพาทมีมูลหนี้หรือไม่ คดีวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยที่สืบมาแล้วการที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อสลักหลัง จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามมาตรา 900 และ 967 เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นแก่โจทก์ตามมาตรา 914 ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน