แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์จ่ายเงินเข้ากองทุนให้แก่พนักงานในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี โดยฝากไว้ต่อธนาคารในนามของเงินกองทุนสะสมพนักงานบริษัทโจทก์และมีรายชื่อ พนักงานแต่ละคนเป็นผู้มีสิทธิในเงินกองทุนนั้น ทั้งโจทก์แจ้งยอด เงินสะสมให้พนักงานทราบทุกงวดที่จ่ายเงินสะสมและให้ธนาคารแจ้งยอด เงินสะสมทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้พนักงานทราบทุก 6 เดือน ดอกเบี้ยที่ธนาคารจ่ายให้แก่เงินฝากตามกองทุนนั้นก็ตก ได้แก่พนักงานแต่ละคน โดยไม่มีข้อกำหนดให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเบิกเงินจากกองทุนไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์และไม่มีเงื่อนไขกำหนดให้เงินดังกล่าวกลับคืนเป็นของโจทก์อีก ดังนั้นเมื่อโจทก์จ่ายเงินเข้ากองทุนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงาน โดยโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในเงินกองทุนนั้นแล้ว จึงเป็นการที่โจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่พนักงานอันเป็นลูกจ้างของโจทก์ไปโดยเด็ด ขาด ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (2).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพ.ศ. 2520 ถึงรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2522 การที่โจทก์นำเอายอดเงินสะสมของพนักงานของรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายนั้นเป็นการต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (2) โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องแต่มีเหตุอันควรผ่อนผันจึงลดเงินเพิ่มให้ คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย โจทก์เห็นว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ถูกต้องเพราะเรื่องเงินสะสมนี้โจทก์ได้ออกคำสั่งเป็นระเบียบกำหนดว่า โจทก์จะหักเงินเดือนในอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือนพนักงาน พร้อมกับโจทก์จะจ่ายเงินสมทบให้แก่พนักงานในจำนวนเท่ากันกับที่หัก นำฝากธนาคารในบัญชีเงินฝากของพนักงานเป็นรายบุคคลรวมกันไปด้วย เมื่อพนักงานพ้นสภาพจากการทำงานเพราะเกษียณ ลาออก ถูกไล่ออกหรือตาย พนักงานหรือผู้รับผลประโยชน์แทนจะได้รับเงินสะสมนี้ไปเต็มจำนวน เว้นแต่โจทก์จะหักเงินสะสมเพื่อชำระหนี้สินที่พนักงานกู้จากโจทก์แล้วค้างชำระโดยใช้บัญชีเงินฝากสะสมนี้ประกันเงินกู้ไว้เท่านั้น ต่อมาในเดือนธันวาคม 2517 โจทก์ถูกบีบบังคับจากพนักงานไม่ยอมให้โจทก์หักเงินเดือนของพนักงานเป็นเงินสะสม คงให้โจทก์ฝ่ายเดียวออกเงินสมทบ โจทก์ตกอยู่ในภาวะจำยอมจึงคงเป็นผู้จ่ายเงินสมทบแต่ฝ่ายเดียวทุกเดือนตลอดมาเพื่อเป็นเงินสะสมของพนักงานโดยถือว่าเป็นเงินเดือนของพนักงานไปด้วย ดังนั้นการที่โจทก์จ่ายเงินสะสมให้แก่พนักงานในรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2522ออกจากบัญชีของโจทก์นำไปเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารแหลมทอง จำกัดให้เป็นเงินของพนักงานแต่ละคนไปทุกเดือน ซึ่งเป็นการจ่ายเงินโดยแท้จริง มิใช่เป็นการโอนแต่เพียงทางบัญชี และเงินสะสมที่โจทก์จ่ายไปไม่มีทางจะกลับคืนมาเป็นของโจทก์อีกได้ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆอีกทั้งพนักงานที่เดือดร้อนทางด้านการเงินก็มีสิทธิขอเบิกเงินสะสมไปก่อนได้ แม้จะยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน ถือได้ว่า โจทก์ได้จ่ายเงินสะสมให้พนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างโดยเด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต 2/27.47.2.0077300775, 00777 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์(ภ.ส.7) เลขที่ ภ.ส. เลขที่ 549 ก-ค/2528 ลงวันที่ 11 กันยายน 2528
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้จ่ายเงินสะสมให้แก่ลูกจ้างของโจทก์โดยเด็ดขาดเพราะพนักงานของโจทก์ไม่มีสิทธิใช้เงินสะสมแม้จะได้เซ็นรับเงินสะสมไปแล้วพร้อมกับเงินเดือนก็ตาม แต่การถอนเงินสะสมยังเป็นสิทธิของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2522โจทก์ได้จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่พนักงานคนใดเลย การจ่ายเงินสะสมรายนี้เป็นทำนองเดียวกับการจ่ายเงินกองทุนเลี้ยงชีพ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จ่ายให้พนักงาน ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะได้รับยกเว้นให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (2) จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยเด็ดขาด มิใช่เป็นแต่เพียงวิธีการจ่ายทางบัญชีและยังคงอยู่ในความควบคุมของผู้จ่าย ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าโจทก์ยังมิได้จ่ายเงินสะสมนั้นโดยเด็ดขาด จึงเป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินที่ ต 2/27.47.2.00773, 00775 และ 00777 ลงวันที่26 กรกฎาคม 2527 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ (ภ.ส.7)549 ก-ค/2528 ลงวันที่ 11 กันยายน 2528
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ยอดเงินที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีของพ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2522 นั้น โจทก์ได้จ่ายแก่ลูกจ้างโดยเด็ดขาดแล้วหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ได้จ่ายเงินเข้ากองทุนให้แก่พนักงานโดยฝากไว้ต่อธนาคารในนามของเงินกองทุนสะสมพนักงาน บริษัท จี.เอส.สตีลจำกัด โดยมีรายชื่อพนักงานแต่ละคนที่มีสิทธิในเงินกองทุนนั้นประกอบการฝาก โจทก์แจ้งยอดเงินสะสมให้พนักงานทราบทุกงวดที่จ่ายเงินสะสมและให้ธนาคารแจ้งยอดเงินสะสมทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้พนักงานทราบทุก 6 เดือน เพื่อให้พนักงานรับรู้ยอดเงินกองทุนและควบคุมเงินกองทุนได้ทางอ้อม ดอกเบี้ยที่ธนาคารจ่ายให้แก่เงินฝากตามกองทุนนั้นก็ตกได้แก่พนักงานแต่ละคนตามชื่อประกอบการฝากหาได้ตกเป็นของโจทก์ไม่ระเบียบเงินกองทุนตามเอกสารหมาย จ.19 ไม่มีข้อกำหนดให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเบิกเงินจากกองทุนไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์และไม่มีเงื่อนไขกำหนดให้เงินที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนแล้วกลับคืนเป็นของโจทก์อีก จึงเป็นการที่โจทก์จ่ายเงินเข้ากองทุนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงานโดยโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในเงินกองทุนนั้นแล้ว เงินกองทุนดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงานเมื่อโจทก์จ่ายเงินเข้ากองทุนจึงเป็นการจ่ายเงินให้แก่พนักงาน และเมื่อไม่มีเงื่อนไขให้เงินดังกล่าวคืนกลับมาเป็นของโจทก์จึงเป็นการที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่พนักงานอันเป็นลูกจ้างของโจทก์ไปโดยเด็ดขาด ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (2) ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์ยังเป็นผู้เบิกเงินกองทุนจากธนาคารมาจ่ายแก่ลูกจ้างและมีสิทธิหักเงินที่เบิกมานั้นชำระหนี้ได้ก่อนอีกทั้งลูกจ้างยังไม่ได้รับเงินจากโจทก์จนกว่าจะพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างถือไม่ได้ว่าโจทก์จ่ายเงินแก่ลูกจ้างโดยเด็ดขาดนั้น เห็นว่าการที่โจทก์เป็นผู้เบิกเงินกองทุนจากธนาคารมาจ่ายนั้นเป็นเพียงพิธีการที่โจทก์ต้องปฏิบัติต่อธนาคารในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการกองทุนแทนลูกจ้าง หาใช่โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในเงินกองทุนนั้นอยู่อีกไม่การที่โจทก์มีสิทธิหักเงินชำระหนี้ให้ก่อนนั้นเป็นสิทธิตามกฎหมายที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ ไม่ใช่เหตุที่จะอ้างว่าเงินกองทุนนั้นยังไม่เป็นของลูกจ้าง ส่วนลูกจ้างยังไม่ได้รับเงินจากกองทุนก็เพราะลูกจ้างปฏิบัติไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้างที่จะได้สะสมเงินไว้เป็นก้อน สำหรับใช้เลี้ยงชีพเมื่อพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง อันมีลักษณะเป็นการที่ลูกจ้างฝากเงินที่โจทก์จ่ายให้เป็นการเด็ดขาดแล้วไว้ในกองทุนเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างเอง จึงไม่ใช่เหตุที่จะอ้างได้ว่าโจทก์ยังมิได้จ่ายเงินให้ลูกจ้างโดยเด็ดขาด”
พิพากษายืน.