แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่เคยประกาศใช้ข้อบังคับตามเอกสารหมาย จ.3 ที่กำหนดอัตราเงินเดือนไว้ 21 ขั้น และจำเลยได้ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่โจทก์เกินอัตราขั้นสูง อันเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว ซึ่งเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ แต่อุทธรณ์ของโจทก์สรุปได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งพนักงานประจำสำนักงานแผนกธุรการ สำนักงานธุรการกลาง ฝ่ายอำนวยการได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,960 บาท เมื่อวันที่ 28ธันวาคม 2524 จำเลยออกข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฉบับที่ 48 ว่าด้วยการกำหนดขั้นและอัตราเงินเดือนพนักงานในตำแหน่งพนักงาน จำเลยกำหนดอัตราเงินเดือนขั้นต้นถึงขั้นสูงสุดไว้ตั้งแต่ 1,850 บาท ถึง 8,730 บาท รวม 21 ขั้น จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างพนักงานกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างให้แก่พนักงานทุกปีงบประมาณ (1 ตุลาคม ถึง 30 กันยายน ของปีถัดไป) โดยจะเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างให้พนักงานทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีในปีงบประมาณ 2531 (1 ตุลาคม 2530 ถึง 30 กันยายน 2531)โจทก์ได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 8,160 บาท ซึ่งในปีงบประมาณ2532 (1 ตุลาคม 2531 ถึง 30 กันยายน 2532) ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างพนักงานของจำเลยโจทก์ต้องได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน 1 ขั้น จากเดือนละ8,160 บาท เป็นเดือนละ 8,730 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2531เป็นต้นไป จำเลยไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว โดยอ้างว่าโจทก์ได้รับเงินเดือนขั้นสูงสุด สำหรับตำแหน่งแล้ว จึงไม่มีสิทธิเลื่อนขั้นเงินเดือนอีกจำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์เดือนละ 570 บาท ตลอดมาถึงวันฟ้องรวมเป็นเวลา 18 เดือน เป็นเงิน 11,260 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างจำนวน 11,260 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และนับแต่เดือนพฤษภาคม 2533 ให้จำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ในอัตราเดือนละ9,530 บาท จนกว่าจะมีการเลื่อนขั้นหรือเปลี่ยนแปลงฐานเงินเดือนโดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าจ้างรวมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานประจำสำนักงาน ตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฉบับที่ 25 ว่าด้วยการกำหนดขั้นและอัตราเงินเดือน เอกสารหมาย จ.2และ ล.16 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2521 และข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ 48 ว่าด้วยการกำหนดขั้นและอัตราเงินเดือนพนักงาน เอกสารหมาย จ.4 และ ล.20 ที่ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2525 อัตราเงินเดือนของพนักงานประจำสำนักงานที่ปรับเข้าตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฉบับที่ 25 ขั้นต้น 1,570 บาท ต้องปรับเป็น 1,850 บาท และขั้นสูง3,550 บาท ปรับเป็น 4,140 บาท โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานประจำสำนักงานจึงมีอัตราเงินเดือนขั้นสูงในขณะนั้นเป็นเงิน 4,140 บาท แต่จำเลยได้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ผิดพลาดเพราะให้สูงกว่าเงินเดือนขั้นสูงและได้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ตลอดมาจนถึงปี 2529เมื่อปี 2530 และ 2531 โจทก์เป็นพนักงานประจำสำนักงานระดับ 3เงินเดือนเต็มขั้น 8,180 บาท โจทก์ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนเนื่องจากเงินเดือนที่โจทก์ได้รับเต็มขั้นอยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเลื่อนขั้นเงินเดือนอีกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2531 ตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ 56 ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างพนักงานเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 7 จำเลยไม่ได้กำหนดอัตราเงินเดือนเป็น 21 ขั้น ตามเอกสารหมาย จ.3ต่อมาเมื่อปี 2532 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 จำเลยออกข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ 69 ว่าด้วยการจำแนกตำแหน่งขั้นอัตราเงินเดือนและค่าจ้างของพนักงาน มีการปรับอัตราเงินเดือนใหม่อีกครั้งหนึ่ง พนักงานประจำสำนักงานได้รับอัตราเงินเดือนขั้นต้น4,070 บาท และขั้นสูง 8,960 บาท ตามเอกสารหมาย ล.7 และ ล.25โจทก์ได้รับเงินเดือน 8,160 บาท ก็ได้ปรับเป็น 8,960 บาท ต่อมามีการปรับอัตราเงินเดือนใหม่อีก โจทก์ได้รับการปรับเป็นเดือนละ12,570 บาท ตามเอกสารหมาย ล.26 ถือว่าอัตราเงินเดือนที่โจทก์ได้รับนั้นเป็นประโยชน์ต่อโจทก์มากอยู่แล้วไม่มีเหตุที่จะปรับอัตราเงินเดือนของโจทก์ใหม่ตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ซึ่งวินิจฉัยว่าจำเลยไม่เคยประกาศใช้ข้อบังคับตามเอกสารหมาย จ.3 ที่กำหนดอัตราเงินเดือนไว้21 ขั้น และจำเลยได้ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่โจทก์เกินอัตราขั้นสูงอันเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว ซึ่งเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ แต่อุทธรณ์ของโจทก์สรุปได้ว่า จำเลยได้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่ชอบจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์.