คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนฟ้องเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินจำนวนอื่นจากโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนอ้างว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยจำเลยไม่ได้กระทำผิดแม้โจทก์จะให้การต่อสู้คดีในคดีนั้นว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยเพราะโจทก์เลิกจ้างจำเลยเนื่องจากจำเลยกระทำผิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีก่อนก็มีเพียงว่าจำเลยฟ้องเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินจำนวนอื่นจากโจทก์ได้เพียงใดหรือไม่แต่ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีก่อนว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปให้โจทก์เพียงใดหรือไม่การที่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปคดีนี้จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เพียงใดหรือไม่ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีก่อนจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ เมื่อคดีก่อนได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาอันถึงที่สุดแล้วว่าโจทก์ในคดีนี้ได้เลิกจ้างจำเลยในคดีนี้โดยจำเลยไม่ได้กระทำผิดจำเลยไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปตามที่โจทก์ให้การต่อสู้คดีในคดีก่อนคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ในคดีนี้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปโจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคแรกประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกเป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งพนักงานคลังพัสดุ ฝ่ายวิศวกรรมข่ายงาน 2 มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการควบคุมดูแลรักษาสินค้าต่าง ๆ ที่เก็บไว้ในคลังพัสดุ ตลอดจนควบคุมดูแลการรับการเบิกจ่ายสินค้าดังกล่าวออกจากคลัง มีจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าแผนกคลังพัสดุ เมื่อประมาณปลายปี 2535 จำเลยที่ 1แจ้งโจทก์ว่ามีสินค้าในคลังพัสดุที่จำเลยทั้งหกมีหน้าที่ดูแลสูญหายไปจำนวนมาก โจทก์ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ต่อมาวันที่15 มีนาคม 2536 โจทก์จึงทราบว่า สินค้าในคลังพัสดุสูญหายไปคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 5,621,315.14 บาท ซึ่งเกิดจากการที่จำเลยทั้งหกบกพร่องต่อหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลรักษาสินค้าในคลังสินค้า อันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติงานทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยทั้งหกร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 5,621,315.14 บาท โจทก์จึงเลิกจ้างจำเลยทั้งหกและทวงถามให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 6,042,913.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 5,621,315.14 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นมาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การว่า ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและเป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 148 ตามลำดับ โดยโจทก์และจำเลยในคดีนี้เป็นคู่ความรายเดียวกัน และประเด็นแห่งคดีก็เหมือนกับคดีของศาลแรงงานกลางหมายเลขแดงที่ 4360/2536 กับคดีหมายเลขแดงที่ 7349-7353/2536 ซึ่งคดีแรกศาลแรงงานกลางและศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วว่า จำเลยในคดีนี้มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนคดีหลังศาลแรงงานกลางพิพากษาแล้วในทำนองเดียวกันแต่ศาลฎีกายังไม่ได้มีคำพิพากษา จำเลยทั้งหกมิได้จงใจประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ประการใดโดยได้ตั้งใจทำงานให้โจทก์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและใช้ความระมัดระวังตามหน้าที่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ในวันพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าจากคำแถลงของคู่ความ และคำพิพากษาศาลฎีกาในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่4360/2536 และคดีหมายเลขแดงที่ 7349-7353/2536 ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย และวินิจฉัยว่าคดีนี้กับคดีก่อนคือหมายเลขแดงที่ 4360/2536 และคดีหมายเลขแดงที่ 7349-7353/2536ของศาลแรงงานกลาง มีคู่ความรายเดียวกัน ประเด็นแห่งคดีเหมือนกันและศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนดังกล่าว ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน คดีหมายเลขแดงที่ 4360/2536 และคดีหมายเลขแดงที่ 7349-7353/2536 ของศาลแรงงานกลาง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีก่อนดังกล่าว จำเลยทั้งหกในคดีนี้ (โจทก์ทั้งหกในคดีก่อน) ฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินจำนวนอื่นจากโจทก์ในคดีนี้ (จำเลยในคดีก่อน) กล่าวอ้างว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้งหกโดยจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำผิด แม้โจทก์จะให้การต่อสู้ในคดีนั้นว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยทั้งหกเพราะโจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้งหกเนื่องจากจำเลยทั้งหกกระทำผิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไป5,621,315.14 บาท ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีก่อนก็มีเพียงว่าจำเลยทั้งหกฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินจำนวนอื่นจากโจทก์ได้ดังฟ้องของจำเลยทั้งหกเพียงใดหรือไม่แต่ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีก่อนว่าจำเลยทั้งหกต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปให้โจทก์เพียงใดหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหกในคดีนี้ โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไป 5,621,315.14 บาทคดีนี้จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ดังฟ้องของโจทก์เพียงใดหรือไม่ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีก่อน คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน แต่เนื่องจากในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาอันถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์ในคดีนี้ได้เลิกจ้างจำเลยทั้งหกในคดีนี้โดยจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำผิด จำเลยทั้งหกไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปดังที่โจทก์ให้การต่อสู้คดีในคดีก่อน คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ในคดีนี้ว่าจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไป โจทก์จึงกลับมาฟ้องคดีนี้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหกโดยอ้างว่าจำเลยทั้งหกกระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์สูญหายไปไม่ได้ ทั้งนี้ตามนับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรกประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share