คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3280/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวตามฟ้องจากจำเลยมีกำหนดเวลาการเช่า1 ปี 6 เดือน โจทก์ได้วางเงินประกันไว้แก่จำเลย โจทก์ขอบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาและจำเลยยินยอมให้โจทก์เลิกสัญญาได้จึงเป็นการที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจตกลงเลิกสัญญาต่อกัน แต่โจทก์จำเลยมีการตกลงในการเลิกสัญญาเช่าว่าเงินประกันต้องริบและโจทก์ยินยอมให้ริบได้ จำเลยจึงมีสิทธิริบเอาเงินประกันดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2539 โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวรวม 4 คูหา กับจำเลย มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน อัตราค่าเช่าเดือนละ60,000 บาท โจทก์ได้วางเงินประกันตามสัญญาแก่จำเลยจำนวน 180,000 บาท ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 โจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญาต่อกัน โจทก์ส่งมอบตึกแถวที่เช่าคืนแก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่คืนเงินประกันให้แก่โจทก์จึงขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 1,479 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 181,479 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 180,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด ทำให้จำเลยขาดรายได้จากการที่ไม่สามารถจัดหาบุคคลอื่นมาเช่าได้ทัน นับแต่โจทก์บอกเลิกสัญญาจนถึงวันยื่นคำให้การเป็นเงินทั้งสิ้น180,000 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินประกันคืน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 180,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2539เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินประกันแก่โจทก์จำนวน 90,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม2539 โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวตามฟ้องจากจำเลยมีกำหนดเวลาการเช่า1 ปี 6 เดือน นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2539 เป็นต้นไปนั้น อัตราค่าเช่าเดือนละ60,000 บาท โจทก์ได้วางเงินประกันไว้แก่จำเลยจำนวน 180,000 บาท และจำเลยจะไม่คืนเงินประกันนี้ให้ถ้าหากโจทก์ผิดสัญญาปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2 และข้อ 4 หลังจากนั้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 ได้มีการเลิกสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวพร้อมทั้งโจทก์ได้ส่งมอบตึกแถวคืนจำเลยในสภาพเรียบร้อยแล้ว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 เฉพาะด้านหลังเอกสารหมาย จ.3 และสำเนารายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.4 และโจทก์ไม่ได้ค้างค่าเช่าแก่จำเลยด้วย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินประกันคืนจากจำเลยจำนวน 180,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ขอบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาและจำเลยยินยอมให้โจทก์เลิกสัญญาได้ จึงเป็นการที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจตกลงเลิกสัญญาต่อกัน เมื่อโจทก์ส่งมอบตึกแถวที่เช่าในสภาพเรียบร้อยและไม่ได้ค้างชำระค่าเช่าแก่จำเลยโจทก์จึงไม่ผิดสัญญา เงินประกันตามสัญญาเช่าจึงต้องคืนให้โจทก์ เว้นแต่มีการตกลงในการเลิกสัญญาว่าให้จำเลยริบเงินประกันได้เมื่อมีการตกลงในการเลิกสัญญาเช่า ว่าเงินประกันต้องริบและโจทก์ยินยอมให้ริบได้ตามคำเบิกความของจำเลย เพราะมิฉะนั้นแล้ว จำเลยคงไม่ยอมเลิกสัญญาเช่าโดยง่ายเช่นนี้ คำเบิกความของจำเลยจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า มีข้อตกลงในการเลิกสัญญาเช่าว่าให้ริบเงินประกันได้ จำเลยจึงมีสิทธิริบเอาเงินประกันดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันให้แก่โจทก์จำนวน 90,000 บาท มานั้น นับเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว”

พิพากษายืน

Share