คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7247/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 จะต้องฟ้องลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย โจทก์ได้ฟ้องลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มรณะก่อนฟ้องศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แถลง โจทก์เพิกเฉย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ถือได้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีเลย ดังนั้นศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนการโอนโดยโจทก์มิได้ฟ้องลูกหนี้คือจำเลยที่ 1หรือทายาทผู้รับมรดกของจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครราชสีมา ภายหลังจากศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาแล้วจำเลยที่ 1 และนางวิรัตน์ยังมิได้ชำระหนี้จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนให้ที่ดินเฉพาะส่วนแก่จำเลยที่ 2 โดยฉ้อฉลโดยจำเลยที่ 2 รู้ดีว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ และต่อมาจำเลยที่ 2ได้จดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โดยไม่สุจริตเพราะจำเลยที่ 3 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบขอให้พิพากษาเพิกถอนทำลายนิติกรรมให้เฉพาะส่วนระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ในโฉนด และเพิกถอนทำลายนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วน ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้กลับสู่สภาพเดิมหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนเจตนาของจำเลย
ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้อง ปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้มรณะก่อนถูกฟ้องและโจทก์ไม่ดำเนินการตามที่ศาลชั้นต้นสั่งภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า คำพิพากษาคดีแพ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่คดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้องดำเนินคดีจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 3 ไม่เคยทราบถึงเรื่องที่จำเลยที่ 1เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา การจดทะเบียนให้ที่ดินเฉพาะส่วนและการซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกรับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีด้วย ศาลจึงจะมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมโอนได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้าหน้าที่รายงานการเดินหมายการส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1ได้มรณะก่อนถูกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แถลงแต่โจทก์เพิกเฉยศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 บัญญัติว่า “การทิ้งคำฟ้องหรือถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคำฟ้องใด ๆที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้วอาจยื่นใหม่ได้ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ” ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีเลย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนโดยโจทก์มิได้ฟ้องลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 หรือทายาทผู้รับมรดกของจำเลยที่ 1 ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง ศาลก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share