คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7169/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเวนคืนที่ดินของโจทก์ส่งผลให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นมาก โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากการถูกเวนคืน แม้ฝ่ายจำเลยมิได้นำเอาราคาที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งมีราคาสูงขึ้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ศาลฎีกาก็มีอำนาจนำเอามูลค่าของที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือที่มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนมาคำนึงประกอบว่าสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์หรือไม่ ดังนั้น ที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 22,000 บาท โดยมิได้เอาราคาที่ดินส่วนที่เหลือที่สูงขึ้นเนื่องจากการเวนคืนมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์อย่างมากอยู่แล้ว หากกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์อีกย่อมไม่เป็นธรรมแก่สังคม
พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์และการฟ้องคดีของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไว้โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 เป็นผู้กำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนก่อน เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว หากผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนด ก็ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นลำดับต่อมา เพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัยก่อนต่อจากนั้นจึงถึงขั้นตอนของการฟ้องคดีต่อศาล ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แต่ตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อรัฐมนตรีฯ นั้นไม่ได้กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการจำต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนเป็นเงินจำนวนเท่าใดและขอให้รัฐมนตรีฯ เพิ่มเงินค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้จำนวนเท่าใดจึงจะเป็นที่พอใจของโจทก์ นอกจากนี้ในตอนท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำขอให้รัฐมนตรีฯ พิจารณาเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ก็มีข้อความว่า ขอให้พิจารณาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ต้องเวนคืนเพียงอย่างเดียว จากตารางวาละ 21,000 บาท เป็นตารางวาละไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท จึงถือไม่ได้ว่า เป็นการอุทธรณ์ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นต่อรัฐมนตรีฯโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนนี้เพิ่มขึ้น จากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 184,662,057.93 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 165,988,366.68 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 55988 กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 5 ไร่ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2533 มี พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว… และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ประกาศใช้ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไป เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 21,000 บาท โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองแล้วกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 1,000 บาท เป็นตารางวาละ 22,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 แล้ว
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีรูปที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าที่ดินติดกับถนนนวลจันทร์ ส่วนด้านหลังติดคลองบางขวด อยู่ในทำเลที่มีความเจริญมีบ้านจัดสรรอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและมีราคาซื้อขายตามปกติในท้องตลาดถึงตารางวาละ 150,000 บาทนั้น แต่หัวหน้าแผนกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ความว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีสภาพเป็นที่อยู่อาศัยและหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งมีราคาประเมินทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในปี 2535 ตารางวาละ 4,000 บาท เท่านั้น และสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน กรมที่ดิน ประเมินราคาไว้ตารางวาละ 10,500 บาท แม้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองจะอยู่ติดกับถนนนวลจันทร์ ซึ่งหลังจากที่มีการเวนคืนแล้วมีการขยายถนนให้กว้างถึง 12 เมตร เป็นสี่ช่องเดินรถก็ตาม แต่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับไม่ปรากฏว่าทำเลดังกล่าวมีความเจริญมากนัก ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากถูกเวนคืนแล้วที่ดินของโจทก์ที่เหลืออยู่อีก 2 ไร่ 20 ตารางวา อยู่ติดกับถนนแนวราบซึ่งติดต่อกับถนนสายรามอินทรา-เอกมัย ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีสภาพดีขึ้นกว่าเดิม สามารถซื้อขายได้ในราคาตารางวาละ 80,000 บาท ถึง 100,000 บาท การเวนคืนในครั้งนี้จึงส่งผลให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่เหลืออยู่เนื้อที่ 2 ไร่ 20 ตารางวามีราคาสูงขึ้นมาก โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากการถูกเวนคืนอยู่ด้วย แม้จำเลยทั้งสองมิได้นำเอาราคาที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งมีราคาสูงขึ้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ศาลฎีกาก็มีอำนาจนำเอามูลค่าของที่ดินของโจทก์ทั้งสองส่วนที่เหลือที่มีราคาสูงขึ้นเพราะถูกเวนคืนมาคำนึงประกอบว่าสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือที่สูงขึ้นเนื่องจากการเวนคืนมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์อย่างมากอยู่แล้ว หากกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสองดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาย่อมไม่เป็นธรรมแก่สังคม
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแปลงนี้เพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทำการเจียระไนเพชร ผลิตน้ำกลั่น ตั้งโรงพิมพ์ และผลิตหลอดไฟโฆษณา โจทก์ทั้งสองได้ลงทุนถมที่ดินและติดต่อจัดหาเครื่องจักรและเครื่องมือจากต่างประเทศ เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนทำให้โครงการของโจทก์ทั้งสองต้องล้มเลิกไป โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายในกิจการที่ดำเนินไปแล้วเป็นเงินประมาณ 50 ล้านนั้น เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทน การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์และการฟ้องคดีของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไว้ โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 เป็นผู้กำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนก่อน เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว หากผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนด ก็ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นลำดับต่อมา เพื่อให้รัฐมนตรีฯพิจารณาวินิจฉัยก่อนต่อจากนั้นจึงถึงขั้นตอนของการฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แต่ตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น โจทก์ทั้งสองกล่าวแต่เพียงว่า “เดิมที่ดินของกระผมมีสภาพเป็นที่ดินแปลงใหญ่มีพื้นที่ถึง 5 ไร่ ซึ่งอยู่ในย่านชุมชนที่เจริญมากและได้มีการพัฒนาที่ดินผืนนี้ก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจประกอบเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมและได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปบ้างแล้ว ซึ่งจะต้องใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5 ไร่ จึงจะดำเนินการได้ แต่เนื่องจากถูกการทางพิเศษประกาศเวนคืนเสียก่อน ธุรกิจดังกล่าวของกระผมจึงต้องชะงักลงโดยสิ้นเชิง ทำให้กระผมขาดทุนไปอย่างมหาศาลจากการที่ได้ตระเตรียมการดำเนินการไว้ล่วงหน้าในครั้งนี้ ทั้งนี้ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่อีกประมาณ 2 ไร่ ก็ยากที่จะทดแทน ทำกิจการอื่นใดเพื่อหาประโยชน์ได้เท่าเดิม” โดยไม่ได้กล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายด้วยเหตุดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเท่าใดและขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเพิ่มเงินค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้จำนวนเท่าใดจึงจะเป็นที่พอใจของโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้ในตอนท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองที่ต้องเวนคืนเพียงอย่างเดียว จากตารางวาละ 21,000 บาท เป็นตารางวาละไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นจากจำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share