คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของ ลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย ก็เพื่อประสงค์ให้ลูกหนี้ได้มี โอกาสรักษาสิทธิของตน ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) จึงถือได้ว่ามีการเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติ ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 แล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 แทนการขอหมายเรียกจำเลยที่ 1 ให้เข้ามาในคดีได้ หาเป็นเหตุที่จะต้องยกฟ้องโจทก์ไม่ทั้งไม่เป็นเหตุขัดข้องที่จะพิพากษาให้จำเลยอื่นชำระหนี้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ มิได้หมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก็เนื่องจาก ศาลฎีกาเคยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ไปก่อนแล้วจึงไม่จำต้องมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 อีก ทั้งเมื่อมิได้มีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ศาลก็พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 กรณีดังกล่าวหาเป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ต้องเสียไปถึงกับยกฟ้องโจทก์ไม่และการฟ้องเรียกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1269 กฎหมายก็มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังนี้การที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไว้แล้วดำเนินกระบวนพิจารณา ตั้งแต่ให้จำเลยทั้งหมดยื่นคำให้การใหม่และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8เป็นผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2531 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2532 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีเมื่อชำระบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 จะมีเงินสดเหลือจากรายจ่ายหักออกจากรายรับ 992,000 บาท แบ่งคืนให้ผู้ถือหุ้น หุ้นละ 99.20 บาท และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ได้เงินอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนแล้ว เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบโดยวิเคราะห์แบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2530 และวันที่ 1 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2531 ประมาณการกำไรหรือขาดทุนสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาดังกล่าวของจำเลยที่ 1 แล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนจึงได้ออกหมายเรียกให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ไปรับการตรวจสอบและไต่สวนพร้อมทั้งให้นำสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีของจำเลยที่ 1 ไปส่งมอบให้เจ้าพนักงานของโจทก์เพื่อตรวจสอบ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ไปพบเจ้าพนักงานตามกำหนดและไม่ยอมส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้ตรวจสอบเจ้าพนักงานของโจทก์จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 17(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มของจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 448,954.74 บาท แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่นำเงินค่าภาษีอากรตามจำนวนที่รับแจ้งไปชำระให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องใช้หนี้ของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ทำการตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีกลับแบ่งเงินจำนวน 992,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ทั้งที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์อยู่ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งแปดต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2536 ให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มจำนวน 448,954.74 บาท พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายแก่โจทก์ แต่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เรียกทรัพย์สินคืนจากผู้ถือหุ้นแล้ว แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสินทรัพย์ชำระหนี้ค่าภาษีอากร ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ โจทก์จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1เพื่อป้องกันสิทธิของโจทก์ในมูลหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยที่ 3 คืนเงินเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากร 396,800 บาท จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 คืนเงินเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากรคนละ 99,200 บาท ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องชำระคืน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ให้ชำระเงินที่จะต้องคืนจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์โดยฟ้องจำเลยที่ 1 แทนการขอหมายเรียกจำเลยที่ 1 ให้เข้ามาในคดีนั้น กระทำได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประสงค์ให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) จึงถือได้ว่ามีการเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 แล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 แทนการขอหมายเรียกจำเลยที่ 1 ให้เข้ามาในคดีได้ หาเป็นเหตุที่จะต้องยกฟ้องโจทก์และขัดข้องที่จะพิพากษาให้จำเลยอื่นชำระหนี้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์มิได้หมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีไม่ ส่วนปัญหาที่ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง จะเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้องโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้นั้นก็เนื่องจากศาลฎีกาเคยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ไปก่อนแล้ว จึงไม่จำต้องมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 อีก ทั้งเมื่อมิได้มีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ศาลก็พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หาเป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ต้องเสียไปถึงกับยกฟ้องโจทก์ไม่ และการฟ้องเรียกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269 กฎหมายก็มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 19/30
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไว้แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ให้จำเลยทั้งแปดยื่นคำให้การใหม่และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share