แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง ยืม จำนอง
++ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 8 หน้า 209 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++
ย่อยาว
เรื่อง ยืม จำนอง
โจทก์ อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงวันที่ ๑๗ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๒
ศาลฎีกา รับวันที่ ๑๕ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๒
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๗ จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ ๑๙๖,๐๐๐ บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๙ ต่อปี โดยกำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า ๒,๘๐๐ บาท ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๐ ปี หากผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง จำเลยยินยอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและฟ้องเรียกต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดได้ทันที หากค้างชำระดอกเบี้ยถึง ๑ ปี ยินยอมให้ทบดอกเบี้ยที่ค้างเข้ากับต้นเงิน ณ วันที่ค้างครบ ๑ ปี และคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราเดียวกันของต้นเงินใหม่ กับทั้งยินยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามกฎหมาย จำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาและได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน น.ส.๓ ก.เลขที่ ๗๐๔ และ ๗๑๓ ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยินยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ และจำเลยตกลงจะประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนที่ดินที่จำนอง โดยจำเลยเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันและโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์หากจำเลยไม่ชำระเบี้ยประกัน ยอมให้โจทก์ทบเบี้ยประกันที่ค้างชำระเข้ากับต้นเงินที่ค้างชำระเป็นต้นเงินใหม่ตามสัญญาต่อไป ในการกู้เงินดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยครั้งแรกในอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี แต่เนื่องจากจำเลยผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระดอกเบี้ยและไม่ผ่อนชำระต้นเงินหลายงวดติดต่อกัน โจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามสภาวการณ์ทางการเงินรวม ๒๔ ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ จากอัตราร้อยละ ๑๖ ต่อปี เป็นร้อยละ๑๙ ต่อปี ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้เพราะเป็นอัตราสูงสุดตามประกาศกระทรวงการคลัง จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์เพียงบางส่วน โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท หลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระ โจทก์ทวงถามหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมาวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๐โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง แต่จำเลยเพิกเฉยยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระถึงวันฟ้องเป็นต้นเงิน ๑๔๘,๑๘๘.๗๙ บาท ดอกเบี้ย๑๖,๘๕๒.๓๙ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๖๕,๐๔๑.๑๘ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑๖๕,๐๔๑.๑๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปีจากต้นเงิน ๑๔๘,๑๘๘.๗๙ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๖๕,๐๔๑.๑๘บาท พร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ ๑๗ ต่อปี จากต้นเงิน ๑๔๘,๑๘๘.๗๙ บาทนับถัดจากวันฟ้อง (วันฟ้องวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๑) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระ ให้ยึดที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ ๗๐๔ และ ๗๑๓ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑,๐๐๐ บาท
โจทก์ยื่นคำร้องขอนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๓ ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปรากฎว่าโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิวรรคหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเพียงว่า สำเนาให้จำเลยโดยให้ส่งไปพร้อมกับสำเนาอุทธรณ์ อนุญาตให้ปิดจำเลยจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาพร้อมระยะเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน และสั่งในอุทธรณ์ว่า รับอุทธรณ์ของโจทก์ ให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายแก้ ไม่มีผู้รับให้ปิด เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และได้ส่งสำนวนมาศาลฎีกา พออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๓ ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๙ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องซึ่งโจทก์เรียกร้องจากจำเลยเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.๕ ข้อ ๑ วรรคสองมีใจความว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ผู้ให้กู้จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแล้ว ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้า สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ในระหว่างสัญญาได้แม้จำเลยมิได้ผิดนัดชำระหนี้ก็ตาม จึงเป็นดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘ วรรคสามแม้ในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลย ปรากฏว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในครั้งแรกเพียงอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี ก็เป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญา จึงยังเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะไม่ยอมให้ประโยชน์แก่จำเลยอีกต่อไป โดยกลับไปคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ตามข้อตกลงในสัญญาได้อีก ข้อสัญญาตามข้อ ๑ วรรคสองนี้จึงไม่เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๙ และแม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินข้อ ๓จะระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดในข้อ ๑ ได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องดังกล่าวโจทก์เรียกจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี เท่ากับอัตราตามข้อตกลงในสัญญาข้อ ๑ วรรคสองเท่านั้น มิได้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ ๓ แต่อย่างใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๙ ต่อปี ดังกล่าว จึงมิใช่เบี้ยปรับซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ ๑๗ ต่อปี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๑๙ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.