คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนเล็กกลยิงมาทางผู้เสียหาย ทั้งหกในขณะนั่งมาในรถยนต์ซึ่งแล่นมาตามถนนสายพัทลุง-ตรัง โดยจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่ากระสุนปืน ที่จำเลยกับพวกใช้ยิงอาจถูกผู้เสียหายทั้งหกซึ่งนั่งอยู่ ในรถยนต์ได้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งหก เพื่อความสะดวกในการชิงทรัพย์ จำเลยกับพวกลงมือ กระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เนื่องจากกระสุนปืนถูกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้รับความเสียหาย ถูกผู้เสียหายที่ 5 ได้รับบาดเจ็บและกลุ่มผู้เสียหายหลบหนีได้ทัน จำเลยกับพวก ไม่อาจชิงทรัพย์ได้สำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกัน พยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งหกเพื่อความสะดวกในการที่จะ กระทำความผิดอย่างอื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนนอกจากที่กำหนดใน กฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าว ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกัน พยายามชิงทรัพย์ตามมาตรา 78 วรรคสาม ฐานร่วมกัน พยายามฆ่าผู้อื่น และฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิด ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับสิบเอกประพิน ฤกษ์สโมสรและพวกอีกหลายคนที่เป็นพลเรือนร่วมกันมีอาวุธปืนเล็กกล(เอ็ม 16) 1 กระบอก กระสุนปืนเล็กกล 13 นัด ที่ใช้ยิงได้ซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ และซองบรรจุกระสุนปืนเล็กกลไว้ในครอบครองแล้ว จำเลยกับพวกร่วมกันพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวทั้งมิใช่กรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ หลังจากนั้นจำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสุวรรณ มุคุระ ผู้เสียหายที่ 1 นายสุทัศน์ จินตโกศล ผู้เสียหายที่ 2 นางจันทรา หงษ์สุวรรณ ผู้เสียหายที่ 3 นายจรัส อ่อนเรือง ผู้เสียหายที่ 4 นางพะเยาว์ อ่อนเรือง ผู้เสียหายที่ 5 ไปโดยทุจริต โดยร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายทั้งห้าและนายถนอม เจ้ยแก้ว ผู้เสียหายที่ 6โดยเจตนาฆ่าและเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น จำเลยกับพวกลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 แต่ถูกผู้เสียหายที่ 5 ที่บริเวณปอด ผู้เสียหายที่ 5 ได้รับการรักษาได้ทัน ผู้เสียหายทั้งหกจึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยกับพวก นอกจากนี้กระสุนปืนยังถูกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฉีกขาดแตกทะลุได้รับความเสียหาย จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 หลบหนีได้ทัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 289, 339, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 55, 72 ทวิ, 78 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6), 339 วรรคสองและสาม, 340 ตรี, 371, 83, 80 ประกอบมาตรา 52(1) พระราชบัญญัติ อาวุธปืน ครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6), 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 3 กระทง แต่ละกระทง ให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) แล้ว ให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยแต่เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น และฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์หรือไม่ ในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยดังกล่าวโจทก์มีนายสุวรรณ มุคุระ ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่าคืนเกิดเหตุพยานขับรถยนต์กระบะแล่นมาตามถนนสายพัทลุง-ตรัง มุ่งหน้าไปอำเภอหาดใหญ่ โดยผ่านเขาพับผ้า เมื่อมาใกล้ถึงที่เกิดเหตุพยานเห็นชาย 2 คน อยู่ข้างถนน ห่างจากพยานประมาณ 500 เมตร พยานรู้สึกสงสัย เมื่อรถยนต์แล่นมาใกล้ในระยะห่างกัน 50 เมตร พยานเห็นชายทั้งสองถืออาวุธปืนเล็กกล(เอ็ม 16) คนละ 1 กระบอก และเมื่อรถยนต์แล่นเข้าใกล้ห่างกันประมาณ 2 ถึง 3 เมตร ชายคนหนึ่งยกอาวุธปืนเล็กกลเล็งยิงมาที่รถยนต์ของพยาน กระสุนปืนถูกที่หม้อน้ำ ประตูด้านซ้ายและตัวถังรถยนต์ด้านหลังพยานขับรถยนต์ผ่านไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านนา ต่อมาในคืนนั้นระหว่างที่พยานให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพัทลุงเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและสิบเอกประพิน ฤกษ์สโมสรมาที่สถานีตำรวจดังกล่าวพยานจำจำเลยได้ว่าเป็นคนร้ายจึงชี้ตัวและยืนยันต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า จำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงพยาน เห็นว่า ขณะเกิดเหตุแม้จะเป็นเวลากลางคืนแต่ก็ได้ความจากพยานว่า พยานเห็นคนร้ายอยู่ข้างถนนโดยอาศัยแสงสว่างจากไฟหน้ารถยนต์โดยเห็นตั้งแต่อยู่ห่างกันประมาณ500 เมตร จนกระทั่งห่างกัน 50 เมตร เห็นคนร้ายทั้งสองถืออาวุธปืนเล็กกล และเมื่อห่างกัน 2 ถึง 3 เมตรก็เห็นคนร้ายคนหนึ่งยกอาวุธปืนเล็กกลยิงมาที่รถยนต์ของพยานพยานจึงมีโอกาสเห็นคนร้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดประกอบกับตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ป.จ.2(ศาลจังหวัดสมุทรปราการ) ได้ความว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นเนิน เขาและทางโค้งด้านซ้าย แสงสว่างจากไฟหน้ารถยนต์ของพยานย่อมส่องไปถึงบริเวณข้างถนนด้านซ้าย พยานจึงสามารถเห็นและจดจำใบหน้ารูปพรรณสัณฐานตลอดจนการแต่งกายของคนร้ายได้เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและสิบเอกประพินได้พยานก็ชี้ตัวและยืนยันต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนเล็กกลยิงพยาน แม้การชี้ตัวจำเลยว่าเป็นคนร้ายเจ้าพนักงานตำรวจมิได้จัดทำบันทึกการชี้ตัวไว้เป็นหลักฐานก็ตามก็ไม่ทำให้น้ำหนักคำพยานโจทก์ปากนี้ไม่น่าเชื่อถือ เชื่อว่าพยานจำจำเลยได้ว่าเป็นคนร้าย นายสุทัศน์ จินตโกศล ผู้เสียหายที่ 2ประจักษ์พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งประสบเหตุการณ์อย่างเดียวกับผู้เสียหายที่ 1 แม้โจทก์จะไม่สามารถนำมาเบิกความเป็นพยานต่อศาล แต่โจทก์อ้างส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 เป็นพยานต่อศาล ตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย ป.จ.2 (ศาลจังหวัดสงขลา) ซึ่งผู้เสียหายที่ 2ให้การต่อพนักงานสอบสวนในคืนเกิดเหตุยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนเล็กกลยิงรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 เพราะจำจำเลยได้โดยอาศัยแสงสว่างจากไฟหน้ารถยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 นอกจากนี้โจทก์มีร้อยตำรวจโทดิเรก มั่นคง เบิกความเป็นพยานว่าภายหลังได้รับแจ้งเหตุในคืนนั้นพยานไปตรวจที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืนเล็กกล 3 ปลอก อยู่ในที่เกิดเหตุ ตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาเอกสารหมาย ป.จ.1(ศาลจังหวัดสมุทรปราการ) สำหรับปลอกกระสุนปืนของกลางได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีกีรติ แปลกบรรจงพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนเล็กกล เครื่องกระสุนปืนเล็กกลและปลอกกระสุนปืนของกลางว่าผลการตรวจพิสูจน์เชื่อได้ว่าปลอกกระสุนปืนของกลางทั้งสามปลอกใช้ยิงมาจากอาวุธปืนของกลางตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลอาญากรุงเทพใต้) ที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจอาจนำอาวุธปืนของกลางมาใช้ยิงแล้วเก็บปลอกกระสุนปืนส่งไปตรวจพิสูจน์พร้อมกับอาวุธปืนของกลางที่ใช้ยิงนั้น เห็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจที่จับจำเลยและสอบสวนจำเลยต่างปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ ตามคำให้การและทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกลั่นแกล้งปรักปรำเพื่อให้จำเลยต้องรับโทษในความผิดอาญาร้ายแรง ทั้งได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจเอกดำรงค์ ดำรงฤทธิเดช พยานโจทก์ว่าพยานกับพวกจับจำเลยและสิบเอกประพินได้ ในคืนเกิดเหตุพร้อมด้วยอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง ในขณะยืนอยู่ที่ศาลาที่พักคนโดยสารห่างจากที่พบปลอกกระสุนปืนของกลาง 200 ถึง 300 เมตร โดยตรวจพบกลิ่นดินปืนที่ปากกระบอกปืนของกลาง และจำเลยกับสิบเอกประพินมีอาการประหม่าทั้งให้การวกวนเป็นพิรุธ จึงควบคุมจำเลยกับสิบเอกประพินมาที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพัทลุง ที่จำเลยฎีกาว่าหากจำเลยกระทำความผิดจำเลยคงจะหลบหนีไปไกล เจ้าพนักงานตำรวจคงไม่สามารถจับจำเลยได้อย่างง่ายดาย นั้น เห็นว่า การที่จำเลยไม่หลบหนีไปไกลภายหลังเกิดเหตุอาจเป็นเพราะจำเลยไม่คาดคิดว่าจะมีผู้เสียหายไปแจ้งความและเจ้าพนักงานตำรวจออกติดตามจับทันที คดีนี้แม้ผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 6 จะจำคนร้ายไม่ได้แต่ก็เบิกความยืนยันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 5 ก็ถูกกระสุนปืนของคนร้ายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ตามผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย ป.จ.4 (ศาลจังหวัดสงขลา) และ ป.จ.2 (ศาลอาญากรุงเทพใต้) พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบพฤติเหตุแวดล้อมกรณีฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนเล็กกลซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงมาทางผู้เสียหายทั้งหกในขณะนั่งมาในรถยนต์ซึ่งแล่นมาตามถนนสายพัทลุง-ตรัง โดยจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่ากระสุนปืนที่จำเลยกับพวกใช้ยิงอาจถูกผู้เสียหายทั้งหกซึ่งนั่งอยู่ในรถยนต์ได้ พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งหกเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยกับพวกลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 แต่ถูกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จนได้รับความเสียหาย และถูกผู้เสียหายที่ 5 ที่ริมฝีปากล่างด้านซ้ายและฟันกราม ล่างด้านซ้าย ผู้เสียหายทั้งหกจึงไม่ถึงแก่ความตายเพียงแต่ได้รับอันตรายแก่กาย และจำเลยกับพวกไม่อาจชิงทรัพย์ได้สำเร็จ เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 หลบหนีได้ทัน จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งหกเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 ข้อนำสืบปฏิเสธของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ ตามมาตรา 78 วรรคสาม ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืน นอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง แยกต่างกรรมกับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ จึงไม่ชอบ เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 78 วรรคสาม อีกบทหนึ่งด้วยความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่งกับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ตามมาตรา 78 วรรคสาม ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมาย บทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share