คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 716/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพ.ร.บ.อากรฆ่าสัตว์ พ.ศ.2488 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้เพื่อขายซึ่งทรากสัตว์ฯ” แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยมีเนื้อชำแหละไว้เพื่อขายก็ดี แต่คำว่าขายก็รวมอยู่ในคำว่าจำหน่ายด้วย ทั้งฐานความผิดที่โจทก์หาโจทก์ก็ได้ตั้งข้อหาว่าจำเลยทำผิดฐานสมคบกันมีทรากกระบือไว้เพื่อขายโดยไม่มีใบอนุญาตกำกับ คำขอให้ลงโทษก็เป็นเรื่องหาว่ามีไว้เพื่อขายและจำเลยก็รับสารภาพว่าได้ทำผิดตามฟ้องโจทก์ เช่นนี้ถือว่าจำเลยมีเนื้อกระบือชำแหละไว้เพื่อขายลงโทษจำเลยในฐานนี้ได้
ประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดพระนคร ฉบับที่ 37 ลงวันที่ 5 ต.ค.96 ซึ่งประกาศห้ามมิให้ผู้ใดนำเนื้อกระบือชำแหละเข้ามาในเขตเทศบาลโดยฝ่าฝืนต่อประกาศฉบับดังกล่าวนั้น ประกาศฉบับนี้ออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร ม.8(6),(8) แต่ไม่ปรากฏในว่าคดีนี้ว่าได้มีการห้ามการค้ากำไรเกินควรในเนื้อโคหรือกระบือชำแหละเลย ทั้งข้ออ้างของกรรมการในการออกประกาศก็ว่าเพื่อสวัสดิภาพของประชาชนผู้บริโภคและเพื่อช่วยสงวนพันธ์โคกระบือสำหรับเกษตรกรรมด้วยหาใช่เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควรไม่ เมื่อเช่นนี้จึงถือว่าประกาศฉบับนี้นอกเหนือวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร จึงไม่ควรมีผลบังคับดังนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 737/2497.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้สมคบกันมีเนื้อกระบือชำแหละไว้เพื่อจำหน่ายรวม ๘ ขา ราคา ๑,๙๐๐ บาท โดยไม่มีใบอนุญาตของเจ้าพนักงานกำกับ และจำเลยกับพวกได้ทราบประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดพระนคร(ฉบับที่๓๗) ลงวันที่ ๕ ต.ค. ๙๖ แล้ว ได้บังอาจสมคบคบกันกระทำการฝ่าฝืนประกาศฉบับดังกล่าวนี้โดยจำเลยกับพวกได้สมคบกันนำเอาเนื้อกระบือชำแหละจำนวน ๘ ขา หนัก ๕๔๗ ก.ก. ซึ่งเป็นการเกินกำหนดที่อนุญาตให้นำเข้ามาในเขตเทศบาลนครกรุงเทพ ฯ โดยมิใช่เนื้อชำแหละที่นำมาจากเขตเทศบาลกรุงเทพ ฯ เหตุเกิดที่ ต.ถนนนครไชยศรี อ.ดุสิต จ.พระนคร ขอให้ลงโทษและจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับด้วย
ขั้นแรกจำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิด แต่เมื่อสืบพยานโจทก์แล้วคนหนึ่งจำเลยกลับขอถอนคำให้การเิมและขอให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการพร้อมทั้งแถลงการว่าการควบคุมที่โจทก์ฟ้องนั้นได้มีประกาศให้ยกเลิกไปแล้ว
ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิพากษาว่าจำเลยผิด พ.ร.บ.อากรฆ่าสัตว์ พ.ศ.๒๔๘๘ ม.๙,๑๒ พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.๒๔๙๖ ม.๘,๑๗ ให้รวมกะทงลงโทษปรับจำเลย ๓๐๐ บาท จำเลยรับสารภาพลดกึ่งหนึ่งคงปรับ ๑๕๐ บาท ไม่ชำระให้ส่งตัวไปควบคุมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง ๕ เดือน ให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละ ๒๐ ของค่าปรับ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชนพิจารณาแล้วเห็นว่าตามฟ้องโจทก์และคำรับรองจำเลยยังฟังเอาผิดแก่จำเลยยังไม่ได้ทั้งในข้อหาฐานฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตและค้ากำไรเกินควร พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนประชุมปรึกษาคดีนี้แล้วข้อที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อากรฆ่าสัตว์ พ.ศ.๒๔๘๘ ม.๙ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ตัวบทจะบัญญัติห้ามมิให้มีไว้เพื่อขายซึ่งทรากสัตว์ แต่ฟ้องโจทก์บรรยายว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายมิได้ใช้คำว่ามีไว้เพื่อขายก็ดี แต่คำว่าขายก็รวมอยู่ในคำว่าจำหน่ายด้วย ทั้งฐานความผิดที่โจทก์หาโจทก์ก็ได้ตั้งข้อหาว่าจำเลยทำผิดฐานสมคบกันมีทราบกระบือไว้เพื่อขายโดยไม่มีใบอนุญาตกำกับ คำขอให้ลงโทษก็เป็นเรื่องมีไว้เพื่อขาย และจำเลยก็รับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยมีเนื้อกระบือชำแหละไว้เพื่อขาย ลงโทษจำเลยตามฟ้องได้
ส่วนข้อที่โจทก์หาว่านำเนื้อกระบือชำแหละเข้ามาในเขตเทศบาลฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดพระนครฉบับที่ ๓๗ ลงวันที่ ๕ ต.ค. ๙๖ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประกาศฉบับนี้ได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร ม.๘(๖),(๘) แต่ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าได้มีการห้ามการค้ากำไรเกินควรในเนื้อโคหรือกระบือชำแหละ ทั้งข้ออ้างของคณะกรรมการในการออกประกาศก็ว่าเพื่อสวัสดิภาพของประชาชนผู้บริโภคและเพื่อช่วยสงวนพันธ์โคและกระบือสำหรับเกษตรกรรมด้วยหาใช่เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควรไม่ ดังนั้นประกาศฉบับนี้ศาลฎีกาเคยพิพากษาเป็นบรรทัดฐานมาแล้ว คือฎีกาที่ ๓๒๗/๒๔๙๗ อัยการจังหวัดเลย โจทก์ นายเกียน แพงพุ่ง จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหานี้ชอบแล้ว
เหตุนี้จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยทำผิดฐานมีเนื้อกระบือชำแหละไว้เพื่อขายโดยไม่มีใบอนุญาตของเจ้าพนักงานกับกับตาม พ.ร.บ.อากรฆ่าสัตว์ พ.ศ.๒๔๘๘ ม.๙ กะทงเดียวให้ปรับจำเลย ๑๐๐ บาท แต่รับสารภาพกึ่งหนึ่งคงปรับ ๕๐ บาท ให้จำเลยจ่ายสินบนนำจับแก่เจ้าพนักงานผู้จับอีกร้อยละ ๒๐ ของค่าปรับ นอกจากที่แก้นี้คงยืน.

Share