แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องหาว่าจำเลยวางเพลิงจุดเผาต้นอ้อยในไร่ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นเป็นอสังหาริมทรัพย์เสียหาย ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 186 เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ตามฟ้องจริงแต่ศาลเห็นว่าต้นอ้อยเป็นเพียงสังหาริมทรัพย์, ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ เช่นนี้ จึงเป็นกรณีเข้าตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา 192 วรรค 4 ศาลย่อมลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 185 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันวางเพลิงจุดเผาต้นอ้อยซึ่งเป็นไม้ยืนต้นปลูกอยู่ในไร่ อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของนายไจ้ซง แซ่เฮง ไหม้เสียหายประมาณ ๓๐๐๐ กอ คิดเป็นราคา ๒,๐๐๐ บาท ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๘๖
จำเลยรับใช้ข้อเท็จจริง แต่ต่อสู้ว่าอ้อยเป็นไม้ล้มลุก เป็นสังหาริมทรัพย์จึงจะลงโทษจำเลยไม่ได้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ต้นอ้อยเป็นสังหาริมทรัพย์จึงจะลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๘๖ ที่โจทก์ขอไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๘๕
จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า ลงโทษตามมาตรา ๑๘๕ ไม่ได้
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้คงได้ความว่าจำเลยวางเพลิงจุดเผาต้นอ้อยของผู้เสียหายจริง ตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นแต่โจทก์เห็นว่าต้นอ้อยเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงอ้างมาตรา ๑๘๖ เป็นบทลงโทษ แต่เมื่อศาลฟังว่าต้นอ้อยเป็นสังหาริมทรัพย์ กรณีก็เป็นผิดตามมาตรา ๑๘๕ ความผิดใน ๒ มาตรานี้เป็นเรื่องวางเพลิงเช่นเดียวกัน เป็นแต่แยกกันไปว่าเป็นทรัพย์ประเภทใดเท่านั้น ฉะนั้นคดีจึงเข้าตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๑๙๒ วรรค ๔ ที่ว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์ก็อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้
จึงพิพากษายืนๆ