คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1446/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของธนาคาร และจำเลยได้ลงชื่อในสัญญานั้นด้วย เมื่อศาลได้พิจารณาสัญญาดังกล่าวนี้เปรียบเทียบกันลายเซ็นตัวอย่างที่จำเลยมอบให้ธนาคารไว้ และกับลายเซ็นของจำเลยในใบแต่งทนายแล้ว เชื่อว่าลายเซ็นของบุคคลคนเดียวกัน ประกอบกับมีพยานบุคคลมายืนยันด้วย สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันจึงไม่ใช่สัญญาปลอม
จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 50,000 บาท ต่อมาจำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีผลักใช้หนี้เป็นคราวๆ ถึงฐานะของจำเลยว่ามีทางจะชำระหนี้ได้ ธนาคารจึงยอมให้เบิกเงินเกินบัญชีสัญญากู้อันเป็นประเพณีของธนาคาร การเบิกเงินเกินกว่านี้ถือว่าเป็นเรื่องของบัญชีเดินสะพัดซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จำเลยเบิกเงินไปมากกว่าวงเงินที่ทำสัญญากู้ไว้ ต้องรับผิดในยอดเงินที่เกินนั้น ส่วนผู้ค้ำประกันคงต้องรับผิดในวงเงินเท่าที่ทำสัญญาค้ำประกันไว้เท่านั้น
อายุความใช้สิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยค้างส่ง เมื่อจำเลยไม่ได้ยกเอาอายุความขึ้นต่อสู้ เรื่องดอกเบี้ยนี้ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ธนาคารจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ทั้งนี้จะเรียกดอกเบี้ยทบต้นได้เฉพาะที่ลูกหนี้ยังไม่ได้ผิดนัด เมื่อลูกหนี้ผิดนัดแล้ว ต่อแต่นั้นไปเจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คงเรียกได้แต่ดอกเบี้ยตามธรรมดา (ฎีกาที่ 658 – 659/2510)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๐ จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากู้เงินเกินบัญชีไปจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้ สัญญาจะชำระหนี้ให้เสร็จในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๑ และจำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์อีกว่า จำเลยยินยอมให้นายไพโรจน์ ยมจินดา ออกเช็คเบิกเงินไปจากโจทก์ในบัญชีออกเงินของจำเลยที่ ๑ และตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ ๑ ทำไว้กับโจทก์อีกด้วย จำเลยที่ ๑ ออกเช็คเบิกเงินไปจากโจทก์รวม ๔ ครั้ง เป็นเงิน ๕๒,๖๒๕ บาท นายไพโรจน์ ยมจินดา ได้ออกเช็คเบิกเงินไปจากโจทก์ในบัญชีของจำเลยที่ ๑ รวม ๑๐ ครั้งเป็นเงิน ๑๖๐,๗๗๕ บาท นายไพโรจน์นำดราฟท์ในบัญชีจำเลยที่ ๑ สามครั้งเป็นเงิน ๒๙,๘๙๗.๔๕ บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๒๔๓,๒๙๗.๔๕ บาท จำเลยที่ ๑ กับนายไพโรจน์นำเงินฝากรวม ๑๐ ครั้ง เป็นเงิน ๑๒๐,๖๙๐ บาท จำเลยคงค้างชำระอยู่ ๑๒๒,๖๐๗.๔๕ บาท จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ ๑๕ ต่อปี คิดเวลา ๕ ปี ๑๒ วัน ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้โจทก์ตามสัญญา
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีกรรมการ ๒ คน ลงชื่อเป็นสำคัญ สัญญาท้ายฟ้องเป็นสัญญาปลอม เพราะลายเซ็นชื่อไม่ใช่ลายเซ็นของจำเลย จำเลยที่ ๑ ไม่เคยตกลงให้นายไพโรจน์ ยมจินดา มีสิทธิเซ็นเช็คเบิกเงินจากธนาคารโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้ฝากเงินไว้กับธนาคารโจทก์เป็นเงิน ๑๒๐,๖๙๐ บาท ยังไม่เคยถอนเลย จึงขอฟ้องแย้งให้ธนาคารโจทก์จ่ายเงินดังกล่าวนั้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ ๑ และขอให้ยกฟ้องโจทก์ด้วย
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้ง และฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากู้ จำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์จริง ยังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ แต่โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยทั้งสองนับตั้งแต่วันกู้ถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า ๕ ปีเศษเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีหลักฐานการกู้เงินเพียง ๕๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เกิน จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด
โจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเอกสารสัญญากู้ไม่ใช่ลายเซ็นชื่อของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พยานหลักฐานโจทก์ขัดต่อเหตุผลและข้อเท็จจริง คำเบิกความของพยานโจทก์มีพิรุธ ฟังไม่ได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วว่าโจทก์มีนายอโนผู้จัดการธนาคาร กับนายธงชัยพนักงานธนาคารรู้เห็นขณะที่จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน นาวเรวดีเสมียนเป็นผู้พิมพ์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ลงชื่อในสัญญาต่อหน้านายอโน นายธงชัย นางเรวดี ศาลได้นำลายมือจำเลยในเอกสารดังกล่าวเปรียบเทียบกับลายเซ็นตัวอย่างที่จำเลยมอบให้ธนาคารไว้ เชื่อว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาปลอม
จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำเงินเข้าบัญชีผลักใช้หนี้หลายคราวเป็นเงิน ๑๒๐,๖๙๐ บาท แสดงให้โจทก์เชื่อถือจำเลยที่ ๑ว่ามีทางชำระหนี้โจทก์ได้ จึงยอมให้เบิกเงินเกินกว่าสัญญากู้อันเป็นประเพณีของธนาคาร จะถือว่าเป็นพิรุธของโจทก์ให้ไม่เชื่อว่าจำเลยที่ ๑ จะกู้เงินตามฟ้องนั้นไม่ได้ เรื่องเบิกเงินเกินบัญชี ถือว่าเป็นเรื่องของบัญชีเดินสะพัด ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ แม้เบิกเงินไม่มากกว่าวงเงินที่กู้ ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยยังต้องรับผิดในยอดเงินที่เกินนั้นด้วย ส่วนจำเลยที่ ๒ คงต้องรับผิดในวงเงินเท่าที่ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับธนาคารโจทก์เท่านั้น
เมื่อจำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่า ๕ ปีได้ เพราะเรื่องดอกเบี้ยนี้ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ทั้งนี้จะเรียกดอกเบี้ยทบต้นได้เฉพาะที่จำเลยยังไม่ได้ผิดนัดเมื่อจำเลยผิดนัดแล้ว ต่อแต่นั้นไปโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คงเรียกได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดาตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๕๘ – ๖๕๙/๒๕๑๑ คดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใด เพื่อหาวันผิดนัด จะถือเอาเวลาสิ้นสุดแห่งบัญชีเดินสะพัดด้วยการหักทอนบัญชีกันในคดีนี้ คือวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๐๒
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ต้นเงิน ๑๒๒,๖๐๗.๔๕ บาท ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดตามสัญญาประกันในวงเงินไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท

Share