คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายอำเภอได้บันทึกถ้อยคำเจ้ามรดกต่อหน้าผู้นั่งซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยาน 2 คน เจ้ามรดกให้ถ้อยคำขอถอนพินัยกรรมเดิม และแบ่งทรัพย์ให้บุตรหลานใหม่ แล้วลงลายมือชื่อต่อหน้าผู้นั่งที่ลงชื่อเป็นพยานและบันทึกนั้นลงวันเดือนปีไว้ด้วย ดังนี้ ถือว่าบันทึกนั้นเป็นพินัยกรรมตามแบบธรรมดา และมีผลลบล้างพินัยกรรมฉบับเก่าซึ่งเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
ฟ้องอุทธรณ์จะลงชื่อศาลเดิมหรือศาลอุทธรณ์ก็มีผลเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ซ. ได้ทำพินัยกรรมยกที่นาให้โจทก์ ขอให้ห้ามจำเลย จำเลยให้การว่า ซ. ได้ทำพินัยกรรมขึ้นใหม่ยกให้จำเลยพินัยกรรมของโจทก์จึงถูกเพิกถอนแล้ว และต่อสู้อื่น ๆ อีกข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิม ซ. ได้ทำพินัยกรรมตามแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกนาพิพาทให้โจทก์ ต่อมา ซ. ได้มีหนังสือถึงคณะกรมการอำเภอขอถอนพินัยกรรมเดิม นายอำเภอได้ไปสอบถาม ซ. ต่อหน้ากำนันผู้ใหญ่บ้าน และทำบันทึกมีใจความว่า ซ. ขอถอนพินัยกรรมที่ทำให้แก่โจทก์ และแบ่งทรัพย์ให้บุตรหลานใหม่ นาพิพาทให้ได้แก่จำเลย ให้ ซ. ลงลายมือชื่อต่อหน้ากำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งลงชื่อเป็นผู้นั่ง และนายอำเภอลงลายมือชื่อเป็นผู้บันทึก และลงวันเดือนปีสถานที่ทำบันทึกด้วย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นแต่บันทึกของเจ้าพนักงานไม่ถูกแบบพินัยกรรม จึงไม่ลบล้างพินัยกรรมเก่า พิพากษาว่านาพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาและเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรก นาพิพาทเป็นของจำเลย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า บันทึกนี้เป็นเรื่องติดต่อมาจากพินัยกรรมฉบับเก่า ซึ่งแสดงว่า ซ. ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกโดยประสงค์จะเพิกถอนพินัยกรรมเก่า และกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนขึ้นใหม่ เมื่อมีวันเดือนปี และพยานลงลายมือชื่อรับรองถูกต้อง ก็ถือว่าเป็นพินัยกรรม แม้จะเป็นแบบธรรมดา ก็มีผลเพิกถอนพินัยกรรมเก่าแบบเอกสารฝ่ายเมือง คำว่าผู้นั่งหมายถึงพยาน อนึ่งฟ้องอุทธรณ์จะลงชื่อศาลเดิมหรือศาลอุทธรณ์ก็มีผลเช่นเดียวกัน

พิพากษายืน

Share