คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินสงเคราะห์รายเดือนที่โจทก์ได้รับมิใช่บำนาญ ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่เป็นเงินสงเคราะห์ที่จ่ายจากกองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกข้อบังคับไว้โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 และการจ่ายเงินสงเคราะห์นี้ ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยข้อ 20 กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกเก็บเงินตามข้อ 5 แห่งข้อบังคับนี้ให้ได้รับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวหรือเป็นรายเดือน โดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ และระเบียบการที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายบำนาญทั้งสิ้น และเมื่อ พ.ร.ฎ.เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2532 มาตรา 3(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2533 มาตรา 3 และ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2535 มาตรา 3มิใช่ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งมิใช่ระเบียบการที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายบำนาญด้วย กรณีจึงไม่จำต้องนำ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมาอนุโลมใช้ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย
การที่จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนแก่อดีตผู้ปฏิบัติงานรถไฟเช่นโจทก์โดยอนุโลมตาม พ.ร.ฎ.เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2523 แล้วต่อมาจำเลยจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ผู้ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมิได้อนุโลมตามพ.ร.ฎ.เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญฉบับต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจัดการกองทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้มีอำนาจตามข้อบังคับจะพิจารณาเห็นควรนำ พ.ร.ฎ.เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญมาอนุโลมใช้หรือไม่เพียงใด การที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนก็เพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนเช่นโจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นเมื่อทางราชการเพิ่มเงินบำนาญให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญทุกครั้ง ฉะนั้น เมื่อจำเลยจะจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนมากน้อยเพียงใดก็เป็นดุลพินิจของจำเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพเพิ่มขึ้น

Share