แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกัน มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้เงินจากจำเลยโดยให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยยึดถือเป็นประกัน ถือว่าสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินที่ทำกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยซึ่งถูกอำพรางไว้จึงต้องบังคับตามสัญญากู้เงินที่เป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองผ่อนชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยเกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้จากจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทไว้ ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสองและต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองด้วย แต่ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โดยปลอดจำนองหรือภาระผูกพันใด ๆ นั้น มีผลทำให้คำพิพากษากระทบต่อสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความในคดี ย่อมไม่อาจกระทำได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า สัญญาขายที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 582 และ 586 ตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลย สัญญาขายที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 583 และ 584 ตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลย และสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยเป็นโมฆะ ให้จำเลยโอนที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 582 และ 586 คืนแก่โจทก์ที่ 1 และโอนที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 583 และ 584 คืนโจทก์ที่ 2 โดยปลอดภาระจำนองหรือภาระผูกพัน หากไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กรณีให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากมีภาระจำนองผูกพันที่ดินทำให้โจทก์ทั้งสองต้องชำระหนี้เพื่อปลดจำนองเป็นเงินจำนวนเท่าใด ให้โจทก์ทั้งสองบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยโดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องใหม่
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยแก้อุทธรณ์เอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวมกันประมาณ 110 ไร่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยโจทก์ที่ 1 มีชื่อใน น.ส. 3 ก เลขที่ 582 และ586 ส่วนโจทก์ที่ 2 มีชื่อใน น.ส. 3 ก เลขที่ 583 และ 584 โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนทำนิติกรรมการขายที่ดินทั้ง 4 แปลง ให้แก่จำเลยในราคารวม 1,000,000 บาท และในวันเดียวกันนั้นจำเลยนำที่ดินทั้งสี่แปลงไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ในวงเงิน 1,200,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยออกเช็คชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 984,000 บาท จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง คืนแก่โจทก์ที่ 2 ในราคา 2,130,000 บาท โดยให้โจทก์ที่ 2 ผ่อนชำระค่าที่ดินคืนเป็นงวดเดือน เดือนละ 35,500 บาท ทุกวันที่ 24 ของเดือน รวม 60 งวด เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2538 เป็นต้นไป โจทก์ที่ 2 ผ่อนชำระโดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยได้ 33 งวด คิดเป็นเงิน 1,130,550 บาท แล้วผิดนัด ต่อมาจำเลยบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวกับโจทก์ที่ 2
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลย เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินหรือไม่ เห็นว่า การจะพิจารณาว่าคู่สัญญาได้แสดงเจตนาลวงทำนิติกรรมขึ้นเพื่อเป็นการอำพรางนิติกรรมอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีและนิติกรรมที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยเปิดเผยเพื่อแสดงต่อบุคคลทั่วไปเป็นสำคัญ โดยหาจำต้องพิจารณาว่าคู่สัญญามีการทำนิติกรรมที่แสดงเจตนาที่แท้จริงไว้ต่อกันอีกฉบับหนึ่งไม่ เพราะหากมีการทำนิติกรรมที่แสดงเจตนาที่แท้จริงไว้แล้ว ก็จะไม่มีปัญหาให้พิจารณาเรื่องนิติกรรมอำพราง เพราะคู่สัญญาสามารถนำนิติกรรมที่ทำไว้ต่างหากและเป็นการแสดงเจตนาที่แท้จริงมาฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยตรง ดังนั้น คดีนี้จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาขายที่ดินและสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยได้ทำไว้ต่อกันนั้นแท้จริงแล้ว โจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีเจตนาจะทำนิติกรรมใดไว้ต่อกัน โจทก์ทั้งสองนำสืบอ้างว่า โจทก์ทั้งสองมีความประสงค์จะขอให้จำเลยช่วยติดต่อหาแหล่งเงินกู้ให้ นอกจากโจทก์ทั้งสองจะมีโจทก์ที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานแล้ว โจทก์ทั้งสองยังมีนายวีระ ผู้ติดต่อให้โจทก์ทั้งสองรู้จักและติดต่อให้จำเลยหาแหล่งเงินกู้ให้มาเป็นพยานด้วย นายวีระมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงสอดคล้องกับทางนำสืบของโจทก์ทั้งสอง และยังรับว่าเป็นนายหน้าและได้รับประโยชน์จากการหาลูกค้าให้แก่จำเลย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้จำเลยนำสืบมิได้นำสืบปฏิเสธจึงน่าเชื่อว่านายวีระเบิกความไปตามความจริง ไม่ได้ช่วยเหลือฝ่ายใด เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ให้แก่จำเลยแล้วจำเลยนำไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารทันทีและนำเงินที่ได้จากการจดทะเบียนจำนองมามอบให้แก่โจทก์ทั้งสองแต่ไม่ครบ 1,000,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขาย แต่หักไว้ 200,000 บาท ต่อมาหลังจากทำสัญญาซื้อขายได้เพียง 24 วัน จำเลยก็ทำสัญญาซื้อขายที่ดินคืนแก่โจทก์ที่ 2 ในราคา 2,130,000 บาท ยิ่งทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งเป็นพฤติการณ์ที่ผิดปกติวิสัยของการแสดงเจตนาที่แท้จริงในการซื้อขายที่ดินโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจหรือสภาพทำเลที่ตั้งของที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงที่เปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งแสดงให้เห็นว่า ที่ดินพิพาทสามารถทำกำไรเพิ่มเกิน 1 เท่าตัวภายในเวลา 24 วัน แต่เป็นการแสดงให้เห็นการหาผลประโยชน์ในการให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยที่สูงผิดปกติและแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ปกปิดไว้ไม่เปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปโดยเด่นชัดว่า แท้จริงแล้วจำเลยให้โจทก์ทั้งสองกู้ยืมเงิน โดยใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองนำไปจำนองธนาคาร แต่โดยที่โจทก์ทั้งสองมีการศึกษาน้อยและมีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงขอให้โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยไว้เป็นประกันและให้คำมั่นสัญญาว่าจะโอนคืนให้ในภายหลัง สำหรับข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีเจตนาซื้อขายที่ดินกันโดยแท้จริง โดยข้อแรกจำเลยอ้างว่าการที่จำเลยไม่ชำระค่าที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองเต็มจำนวน 1,000,000 บาท โดยหักไว้ 200,000 บาท เป็นเพราะโจทก์ที่ 2 ค้างชำระค่าปรึกษาจำเลยเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น เป็นการนำสืบลอย ๆ ไม่ระบุว่าเป็นการให้คำปรึกษาเรื่องใด ธุรกิจประเภทใด และโจทก์ที่ 2 ได้รับผลสำเร็จจากการให้คำปรึกษาหรือไม่ เพราะการที่บริษัทจำเลยคิดค่าปรึกษาจากโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท นับว่าเป็นค่าปรึกษาที่สูงมากเมื่อเทียบกับอาชีพของโจทก์ทั้งสอง จำเลยเองก็เบิกความรับว่า โจทก์ที่ 2 เป็นคนมีความรู้น้อยแม้แต่คำปรึกษาก็ยังรับไว้เองไม่ได้ ต้องปรึกษาผ่านนายวีระ จึงมีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าบริษัทจำเลยให้คำปรึกษาแก่โจทก์ที่ 2 ให้ประกอบธุรกิจประเภทใด จึงคิดค่าปรึกษาเป็นเงินจำนวนมากเช่นนี้ ข้อต่อมา จำเลยนำสืบถึงสาเหตุที่โจทก์ทั้งสองนำที่ดินพิพาทมาขายแก่จำเลยว่า เมื่อโจทก์ที่ 2 ค้างชำระค่าปรึกษาบริษัทก็ขอให้โจทก์ที่ 2 นำที่ดินมาขายแก่บริษัท เป็นทำนองนำมาตีใช้หนี้ ก็เป็นเรื่องไม่มีเหตุผล เพราะหากเป็นความจริงดังที่จำเลยอ้างโจทก์ทั้งสองสามารถเลือกเอาที่ดินเพียงแปลงหนึ่งแปลงใดที่มีราคาเพียงพอ หาจำต้องเอามาขายทั้งสี่แปลงไม่ เพราะที่ดินของโจทก์ทั้งสองทั้งสี่แปลงต่างก็เป็นแปลงที่มีเนื้อที่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะแปลงที่มีเนื้อที่น้อยที่สุดก็มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ และจำเลยยังนำสืบอีกว่า จำเลยมีชื่อถือครองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงไว้แทนบริษัทเท่านั้น เพราะบริษัทยังไม่แน่ว่าจะสามารถนำที่ดินไปพัฒนาได้เมื่อใด ย่อมแสดงว่าบริษัทไม่มีโครงการที่จะซื้อที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง พยานหลักฐานของจำเลยเป็นพิรุธไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดี พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองมีเหตุผลและน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่า คดีฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันจริง สัญญาทั้งสองสัญญาดังกล่าวนั้นตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้เงินจากจำเลยโดยให้ที่ดินแก่จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันและย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เป็นนิติกรรมสัญญากู้เงินที่ทำกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองกู้เงินจากจำเลย 1,000,000 บาท เมื่อคำนวณผลประโยชน์ที่จำเลยคิดจากโจทก์ทั้งสอง ปรากฏว่าจำเลยคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากโจทก์ทั้งสองในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดย่อมตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากโจทก์ทั้งสองอีก เมื่อข้อเท็จจริงรับกันว่า โจทก์ทั้งสองผ่อนชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยเกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้จากจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิจะยึดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงไว้ ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสองและต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงคืนแก่โจทก์ทั้งสอง แต่ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ทั้งสี่แปลงคืนแก่โจทก์ทั้งสองโดยปลอดจากภาระจำนองหรือภาระผูกพันใด ๆ นั้น เห็นว่า เป็นคำขอที่มีผลทำให้คำพิพากษามีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความในคดีด้วยย่อมไม่อาจจะกระทำได้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 582 และ 586 ตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2538 ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลย และตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 583 และ 584 ตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2538 ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลย และให้จำเลยจดทะเบียนโอนชื่อทางทะเบียนคืนแก่โจทก์ทั้งสองตามที่โจทก์ทั้งสองขอ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอของโจทก์ทั้งสองนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ