คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ซึ่ง รับช่วง สิทธิของ ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ โดย อ้างว่าคนขับรถยนต์ คันหมายเลข ทะเบียน80-1145 เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสี่ได้ กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสี่ เป็นเหตุให้รถยนต์ คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า คนขับรถคันหมายเลขทะเบียน 80-1145 เป็นลูกจ้างและได้ กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 ดัง ฟ้อง แม้จำเลย ที่ 1ถึง ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา และจำเลย ที่ 4ขาดนัดพิจารณาก็ตาม แต่ โจทก์จะชนะคดีได้ ก็ต่อเมื่อศาล เห็นว่าข้ออ้างของโจทก์เช่นว่านั้นมีมูลและไม่ขัดต่อ กฎหมาย เมื่อโจทก์นำสืบไม่สมฟ้อง จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อ โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-2407 พระนครศรีอยุธยา ไว้จากนายสมชาย รัตนนิตย์ จำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของครอบครองร่วมกันในรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพร และร่วมกันเป็นนายจ้างของผู้ขับขี่รถยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 4 เป็นผู้ประกอบการขนส่งและได้รับเอารถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพร เข้าวิ่งร่วมรับขนส่งโดยมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในทางการค้าโดยรับประกันภัยทุกชนิดและได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-1145ชุมพร ไว้ในขณะเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2526 ผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพร ได้ขับรถโดยประมาท ตัดหน้ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2407 พระนครศรีอยุธยา ในระยะกระชั้นชิดทำให้ชนกันอย่างแรงได้รับความเสียหายมาก ขณะเกิดเหตุผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพร เป็นลูกจ้างและปฏิบัติงานในทางการที่จ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับรถยนต์คันดังกล่าวเข้าวิ่งร่วมโดยมีผลประโยชน์ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-2407 ไว้ ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในส่วนนี้ตามกฎหมาย ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ให้การว่า โจทก์มิได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2407 พระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 4 มิได้เป็นผู้ประกอบการขนส่งที่รับเอารถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพรเข้าวิ่งร่วมรับขนส่งโดยมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3แต่อย่างใด เหตุเกิดครั้งนี้เป็นความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2407 พระนครศรีอยุธยา แต่ผู้เดียว ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมามากเกินไป จำเลยที่ 5 จะรับผิดไม่เกินวงเงินที่กรมธรรม์ประกันภัยระบุไว้และจะรับผิดต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดตามกฎหมาย ผู้ขับขี่รถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพรมิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ค่าดอกเบี้ยโจทก์ไม่มีสิทธิคิดจากจำเลยที่ 5 เพราะโจทก์มิได้มีหนังสือทวงถามขอให้พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใดโจทก์ฟ้องอ้างว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพร นั้น เป็นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ได้นำเข้าร่วมทำการขนส่งกับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่ง ปัญหาข้อนี้โจทก์มีนายอรุณ เพชรกำเนิดเป็นพยานเบิกความว่า พนักงานสอบสวนได้เรียกคู่กรณีไปตกลงกันที่หน่วยสอบสวนสถานีตำรวจทางหลวง จังหวัดสิงห์บุรี ฝ่ายผู้เอาประกันภัยมีนายสมชาย รัตนนิตย์ ผู้เอาประกันภัยกับพยาน ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 1 ไปเจรจา พยานอ้างว่าจำเลยที่ 1 แจ้งให้ทราบว่าเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพร และเป็นนายจ้างของคนขับรถยนต์คันดังกล่าว ได้พิจารณาคำเบิกความของพยานปากนี้แล้วเห็นว่าเป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน แม้แต่พันตำรวจตรีสุกรียงใจยุทธ พนักงานสอบสวนก็มิได้เบิกความถึงเรื่องนี้เลย พยานซึ่งเป็นพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้มีส่วนได้เสียทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์อาจเบิกความช่วยเหลือให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ก็ได้ นายสมศักดิ์ สุขงาม พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2407 พระนครศรีอยุธยาเบิกความว่า ได้ทราบจากนายจ้างของตนว่าจำเลยที่ 1 บอกนายจ้างของตนว่า คนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพร เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และว่าจำเลยที่ 1 เคยติดต่อจะชดใช้ค่าเสียหายให้ได้มอบนามบัตรไว้ให้ด้วย แต่โจทก์ก็มิได้นำนายจ้างของพยานปากนี้มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว คำเบิกความของนายสมศักดิ์จึงเป็นพยานบอกเล่าซึ่งมีน้ำหนักน้อย นามบัตรที่อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้น จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ไม่แน่ชัด ทั้งไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์หรือเป็นนายจ้างของคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพร ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวยังรับฟังไม่ได้ว่า คนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพรเป็นลูกจ้างและได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6ดังที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณารวมทั้งขาดนัดพิจารณาด้วยก็ตาม แต่โจทก์จะชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างของโจทก์เช่นว่านั้นมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ฟังได้ด้วยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะเหตุคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-1145 ชุมพร เป็นลูกจ้างและได้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในขณะเกิดเหตุ เมื่อโจทก์นำสืบไม่สมฟ้องจึงไม่อาจเป็นฝ่ายชนะคดีได้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นนี้ จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share