แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันซึ่งมีข้อความว่า “เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำงานในธนาคารแล้ว ภายหลังได้หลบหลีกหนีหายไป หรือได้ฉ้อโกง ยักยอก หรือทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย หรือสูญเสียทรัพย์สินไม่ว่าด้วยประการใด ๆจำเลยที่ 2 ตกลงชดใช้เงินให้แก่ธนาคาร” ตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวนี้ย่อมหมายถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับอันเกิดจากการทำงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ดูแลความสงบและความปลอดภัยภายในธนาคาร ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้ลูกค้าของโจทก์ลงชื่อในใบถอนเงินและเป็นผู้ถอนเงินไป ก็เป็นการกระทำส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง ไม่ใช่การกระทำในตำแหน่งหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เคยเป็นพนักงานของโจทก์เข้าทำงานเมื่อปี ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ว่า หากจำเลยที่ ๑ ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ ๒ จะชดใช้เงินแก่โจทก์ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๑นำใบถอนเงินที่นางบุญเลี้ยง ขวัญเมือง ซึ่งเป็นลูกค้าโจทก์ลงชื่อไว้มากรอกข้อความและถอนเงินไปจากบัญชีของนางบุญเลี้ยง ๕๐,๐๐๐บาท โดยนางบุญเลี้ยงมิได้รู้เห็นยินยอม การกระทำของจำเลยที่ ๑ทำให้โจทก์เสียหายต้องใช้เงินให้นางบุญเลี้ยง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยรวม ๖๑,๗๑๒.๓๒ บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของโจทก์ ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินหรือติดต่อกับลูกค้าของโจทก์ ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้องหากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์สาขาพนัสนิคมเมื่อปี ๒๕๒๐ ในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยโดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันในการเข้าทำงานของจำเลยที่ ๑เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๑ หลอกลวงให้นางบุญเลี้ยงขวัญเมือง ลงชื่อในใบถอนเงินแล้วนำไปกรอกข้อความขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของนางบุญเลี้ยง ขวัญเมือง ซึ่งเปิดบัญชีไว้กับโจทก์สาขาพนัสนิคมไปจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมานางบุญเลี้ยงแจ้งให้ผู้จัดการสาขาพนัสนิคมของโจทก์ทราบว่าไม่ได้เป็นผู้ถอนเงินไปจากบัญชี โจทก์จึงได้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นางบุญเลี้ยงไปแล้ว เห็นว่า ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๓ ที่ระบุว่า”เมื่อนายอุดม นกบิน (จำเลยที่ ๑) ได้เข้าทำงานในธนาคารกรุงเทพจำกัด (โจทก์) แล้ว ภายหลังได้หลบหลีกหนีหายไป หรือได้ฉ้อโกง ยักยอกหรือทำให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้รับความเสียหาย หรือสูญเสียทรัพย์สินไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ข้าพเจ้า (จำเลยที่ ๒) ตกลงชดใช้เงินให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด” นั้น ย่อมหมายถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับอันเกิดจากการทำงานในหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เท่านั้นเมื่อจำเลยที่ ๑ เป็น พนักงานรักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ดูแลความสงบและความปลอดภัยภายในธนาคารไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินดังนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ หลอกลวงให้นางบุญเลี้ยงลงชื่อในใบถอนเงินและเป็นผู้ถอนเงินไปจริง ก็เป็นการกระทำส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ เองไม่ใช่การกระทำในตำแหน่งหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยแต่ประการใด จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย
พิพากษายืน.