คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ. การสื่อสารฯ ให้บริการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศแก่ประชาชน เมื่อผู้ใช้เครื่องโทรศัพท์พูดโทรศัพท์จากประเทศ ไทย ไปยังต่างประเทศโดยผ่านเครื่องวิทยุโทรศัพท์ของโจทก์ ผู้ใช้บริการพูดโทรศัพท์จะต้องเสียค่าใช้บริการพูดโทรศัพท์ตามอัตราที่โจทก์กำหนดไว้ค่าใช้บริการพูดโทรศัพท์จึงเป็นสินจ้าง กรณีดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้าโดยรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165(7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ให้บริการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศแก่ประชาชนด้วย โจทก์วางระเบียบให้ประชาชนสามารถใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์จากในประเทศไปยังต่างประเทศและจากต่างประเทศมายังในประเทศ โดยใช้เครื่องโทรศัพท์ของผู้เช่าโทรศัพท์จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ติดตั้ง ณ บ้านหรือสำนักงานของผู้เช่าโทรศัพท์ดังกล่าวพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านเครื่องวิทยุโทรศัพท์ของโจทก์ได้ เมื่อระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2527ถึงวันที่ 6 มีนาคม 2527 ได้มีการใช้บริการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ โดยพูดเรียกออกจากโทรศัพท์หมายเลข 413-3145 ซึ่งจำเลยเป็นผู้เช่า ต้นทางกรุงเทพมหานคร ประเทศไทยไปยังปลายทางกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 ครั้ง ค่าใช้บริการคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 5,700บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าใช้บริการจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์โจทก์เคยติดต่อทวงถามจากจำเลยหลายครั้งแล้ว จำเลยเพิกเฉยขอศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,700 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การต่อสู้ว่าหนี้ที่จำเลยใช้บริการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ จำนวน 5 ครั้ง คิดเป็นค่าใช้บริการทั้งสิ้น 5,700 บาทเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2527 ถึงวันที่ 6 มีนาคม 2527 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนโดยให้บริการสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อส่งข่าวถึงกันและกัน รวมทั้งการให้บริการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศแก่ประชาชนด้วยก็ตาม แต่เมื่อผู้ใช้เครื่องโทรศัพท์พูดโทรศัพท์จากประเทศไทยไปยังต่างประเทศโดยผ่านเครื่องวิทยุโทรศัพท์ของโจทก์ผู้ใช้บริการพูดโทรศัพท์จะต้องเสียค่าใช้บริการพูดโทรศัพท์ตามอัตราที่โจทก์กำหนดไว้ ค่าใช้บริการพูดโทรศัพท์ดังกล่าวจึงเป็นสินจ้างนั่นเอง กรณีดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้าโดยรับทำการงาน เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7)ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share