แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้รับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ว่า “ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ศาลอนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้”เป็นคำรับรองที่ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 เพราะไม่ได้ความว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 391 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 และ 391 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 1 เดือนรวมจำคุก 10 ปี 1 เดือน จำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงบางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 6 ปี 8 เดือน 20 วัน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่านายเส็ง กองอาษา ผู้เสียหาย ถูกฟันด้วยมีดโต้ยาวประมาณ 20 นิ้วฟุตทั้งตัวมีดและด้าม ที่บริเวณใบหน้าและศีรษะ หลายแห่งเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ดังปรากฏตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง สำหรับข้อหาความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้รับรองว่า “ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ศาลอนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้”นั้นไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221เพราะไม่ได้ความว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยสำหรับข้อหาความผิดฐานนี้ไม่ได้”
พิพากษายืน