คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อุทธรณ์ที่ว่าศาลตีความข้อตกลงแห่งสัญญาผิดไปจากสำนวนหากตีความตามอุทธรณ์แล้วจะเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 นำสืบได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย แม้ในสัญญาจะมิได้กำหนดเวลาให้ผู้ขายส่งมอบข้าวสารให้ผู้ซื้อก็ตามแต่ที่สัญญาระบุให้ผู้ซื้อต้องชำระราคาให้ผู้ขายภายในวันที่ 30 กันยายน 2529 นั้นพออนุมานได้ว่า คู่กรณีตกลงให้ผู้ขายส่งมอบข้าวสารให้ผู้ซื้อภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย ตามป.พ.พ. มาตรา 203 ส่วนสิทธิในการเลิกสัญญาย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือตามข้อความในสัญญาที่ระบุให้สิทธิไว้เมื่อไม่ปรากฏสิทธิดังกล่าวแล้ว จำเลยผู้ขายย่อมไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาก่อนที่จะส่งมอบข้าวสารให้แก่โจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ยอมส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์ที่ 1 ภายในวันที่ 30 กันยายน 2529 จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาขายข้าวสารให้แก่โจทก์ที่ 1จำนวน 1,000 กระสอบ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 424,500 บาท มีกำหนดส่งมอบและชำระราคาภายในวันที่ 30 กันยายน 2529 หากโจทก์ที่ 1ผิดสัญญาไม่ชำระราคา ยอมเสียดอกเบี้ยและเบี้ยปรับรวมร้อยละ17 ต่อปี และหากจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบข้าวสาร ยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้นำที่ดิน น.ส.3 ก. จำนวน 3 แปลง จำนองไว้กับจำเลยเพื่อประกันความเสียหายหากโจทก์ที่ 1 ผิดสัญญา ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งข้าวสารให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 เรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท และปลดหนี้จำนองที่ดิน น.ส.3 ก.ทั้งสามแปลง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเบี้ยปรับจำนวน20,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยปลดหนี้จำนองที่ดิน น.ส.3 ก.ทั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองหากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์ที่ 1 และจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อจำเลยยังไม่ส่งข้าวสารให้โจทก์ภายในวันที่ 30กันยายน 2529 โจทก์มิได้ชำระราคาแก่จำเลยภายในกำหนดเวลาเดียวกันสัญญาจะซื้อจะขายเป็นอันยกเลิกไป โจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยส่งมอบข้าวสาร จำเลยจึงไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อความต่อท้ายสัญญาที่ให้โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยจำนวน 20,000 บาท นั้นประธานกรรมการจำเลยได้ร่วมกับโจทก์เพิ่มเติมข้อความโดยพลการจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2529 อันเป็นวันที่สัญญาถึงกำหนด จำเลยได้มอบให้กรรมการจำเลยไปบอกเลิกสัญญาด้วยวาจากับโจทก์ครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจำเลยยังได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 17 กันยายน 2529 ไปยังโจทก์อีกครั้งหนึ่งส่วนเรื่องไถ่ถอนจำนองนั้น จำเลยยินยอมให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองตามระเบียบของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับเลขที่ 4968เลขที่ดิน 404 เลขที่ 5351 เลขที่ดิน 336 และเลขที่ 5352 เลขที่ดิน337 ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ให้แก่โจทก์ที่ 2 ณ สำนักงานที่ดินอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง โดยให้โจทก์ที่ 2 และจำเลยชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนถอนจำนองคนละครึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยกับให้จำเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ด้วยคำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน20,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้ทุนทรัพย์ไม่เกิน20,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 จึงขัดกับกฎหมายดังกล่าวนั้นเห็นว่าโจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นตีความข้อตกลงแห่งสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ผิด ทำให้ศาลชั้นต้นฟังพยานหลักฐานผิดไปจากสำนวน หากตีความตามที่โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ จะเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 สืบได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1เช่นนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ให้นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นที่จำเลยฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าผู้ขายตกลงขายข้าวสารให้แก่ผู้ซื้อแยกเป็นข้าวสาร 15 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 650 กระสอบกระสอบละ 435 บาท เป็นเงิน 282,750 บาท ข้าวสาร 25 เปอร์เซ็นต์จำนวน 350 กระสอบ กระสอบละ 405 บาท เป็นเงิน 141,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 424,500 บาท ซึ่งผู้ซื้อจะชำระเงินดังกล่าวทั้งหมดภายในวันที่ 30 กันยายน 2529 แต่ในสัญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ขายจะส่งมอบข้าวสารทั้งหมดให้แก่ผู้ซื้อเมื่อไร และข้อความในสัญญาไม่ได้ระบุห้ามผู้ขายมิให้บอกเลิกสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้นั้น เห็นว่า สัญญาเช่นนี้แม้จะมิได้กำหนดเวลาให้ผู้ขายส่งมอบข้าวสารให้ผู้ซื้อก็ตาม แต่ที่สัญญาระบุว่าผู้ซื้อจะต้องชำระราคาข้าวสารให้ผู้ขายภายในวันที่ 30 กันยายน 2529นั้น พอจะอนุมานได้ว่าคู่กรณีตกลงให้ผู้ขายส่งมอบข้าวสารให้แก่ผู้ซื้อภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 และเมื่อเกิดสัญญากันขึ้นแล้ว คู่กรณีย่อมต้องผูกพันชำระหนี้กันตามสัญญา ส่วนฝ่ายใดจะมีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่นั้นย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือมีข้อความในสัญญาระบุให้สิทธิเลิกสัญญาไว้ เมื่อข้อความในสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ระบุให้ผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ทั้งไม่มีกฎหมายให้สิทธิผู้ขายบอกเลิกสัญญาได้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยให้การว่าจำเลยได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2529 แล้วเช่นนี้ย่อมถือว่าจำเลยได้บอกเลิกสัญญาก่อนที่จะส่งมอบข้าวสารให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญา การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบเมื่อจำเลยไม่ยอมส่งมอบข้าวสารให้แก่โจทก์ที่ 1 ภายในวันที่30 กันยายน 2529 จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา…”
พิพากษายืน.

Share