คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลังจากที่จำเลยกับ จ. ร่วมกันชิงเงินสดของผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 แล้ว จ. ขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับพากันหลบหนีไป ผู้เสียหายที่ 3 ขับรถยนต์กระบะติดตามไปห่างประมาณ 100 เมตร จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 3 ไป 2 นัดโดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด ดังนี้ เมื่อจำเลยกับ จ. มีเจตนาที่จะชิงทรัพย์เท่านั้น แม้จำเลยจะทราบว่า จ. มีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย แต่จำเลยก็ไม่มีอาวุธปืนติดตัวไปต่างหาก ขณะที่จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 3 จำเลยกำลังขับรถจักรยานยนต์อยู่ ไม่มีโอกาสที่จะรู้เห็นถึงการกระทำของ จ. ทั้งจำเลยไม่ได้พูดหรือกระทำการใด ๆ อันอาจถือได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน จ. ในการพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 การที่ จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 3 จึงเป็นการกระทำของ จ. ตามลำพังอันเป็นการตัดสินใจของ จ. โดยฉับพลันในขณะนั้นเอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับ จ. ในการพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายจักรพงษ์ พวงประดับ ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือร่วมกันมีอาวุธปืนพกขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก ใช้ยิงได้ซึ่งเป็นของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียน และกระสุนปืนขนาดเดียวกัน 2 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนพหลโยธิน ตำบลเชียงเงิน อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ซึ่งเป็นในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วน ตามสมควรแก่พฤติการณ์ ร่วมกันลักเอาเงินสด 4,000บาท ของนายพิสณห์ เดชอุดมไพศาล ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของนางสาวสมถวิล เป้าเฮงผล ผู้เสียหายที่ 2 ไปโดยใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 2 ว่าในทันใดนั้นจะยิงผู้เสียหายที่ 2 หากขัดขืน เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป และให้ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ทั้งใช้รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดและพาทรัพย์นั้นไป และร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายสมชาย สุขสอน ผู้เสียหายที่ 3 หลายนัดโดยเจตนาฆ่า ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 3 กับพวกนั่งรถยนต์ไล่ติดตามจับกุมจำเลยกับพวก ทั้งนี้ เพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดจากการชิงทรัพย์และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ตนได้กระทำไว้ จำเลยกับพวกลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายที่ 3 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 73 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี, 288, 289, 80, 83, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินสด 4,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1

จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนฯ ร่วมกันพาอาวุธปืนฯ และร่วมกันชิงทรัพย์ ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289(7), 80 ประกอบมาตรา 52(1), 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนฯจำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนฯ จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันชิงทรัพย์ฯ จำคุก 18 ปี ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นฯ จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดสามฐานแรกมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนฯ จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนฯ จำคุก 3 เดือน ฐานร่วมกันชิงทรัพย์ฯจำคุก 9 ปี ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฯ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53จำคุก 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลย 42 ปี 13 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินสด 4,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ฯ ร่วมกันมีอาวุธปืนฯ และร่วมกันพาอาวุธปืนฯ ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้อุทธรณ์ โดยจำเลยอุทธรณ์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นฯ ขอให้ยกฟ้องหรือลงโทษในสถานเบา แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยให้เฉพาะในเรื่องที่ขอให้ลงโทษสถานเบาเท่านั้น ส่วนอุทธรณ์ที่ขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ไม่รับวินิจฉัยเพราะมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องถือว่าปัญหาข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 อย่างไรก็ตาม ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฯ หรือไม่นี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 ในปัญหาตามฎีกาของจำเลยดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า หลังจากที่จำเลยกับนายจักรพงษ์ร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 แล้วนายจักรพงษ์ขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับพากันหลบหนีไป ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งทำงานอยู่ข้างร้านที่เกิดเหตุได้ทราบเหตุจึงขับรถยนต์กระบะติดตามจำเลยกับนายจักรพงษ์ไป ในระยะห่างประมาณ 100 เมตร นายจักรพงษ์ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 3 ไป 2 นัด โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด ดังนี้ เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบเลยว่าจำเลยกับนายจักรพงษ์มีเจตนาจะฆ่าผู้ใด คงได้ความเพียงว่าจำเลยกับนายจักรพงษ์มีเจตนาที่จะชิงทรัพย์เท่านั้น แม้จำเลยจะทราบว่านายจักรพงษ์ มีอาวุธปืนติดตัวไปด้วยแต่จำเลยก็ไม่มีอาวุธปืนติดตัวไปต่างหาก ขณะที่นายจักรพงษ์ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 3 จำเลยกำลังขับรถจักรยานยนต์อยู่ ไม่มีโอกาสที่จะรู้เห็นถึงการกระทำของนายจักรพงษ์แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พูดหรือกระทำการใด ๆ อันอาจถือได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนนายจักรพงษ์ในการพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 การที่นายจักรพงษ์ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 3 จึงเป็นการกระทำของนายจักรพงษ์ตามลำพังอันเป็นการตัดสินใจของนายจักรพงษ์ โดยฉับพลันในขณะนั้นเอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับนายจักรพงษ์ในการพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มาจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) ประกอบมาตรา 80 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share