คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9 มีความหมายถึงกรณีที่มีปัญหาข้อสงสัยยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าคดีนั้นเป็นคดีประเภทใดประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(1) ถึง (11) หรือเป็นเรื่องที่ไม่แน่ชัดหรือเป็นที่สงสัยว่าเนื้อหาของข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การนั้นเกี่ยวกับเรื่องที่ถือว่าเป็นคดีประเภทใดประเภทหนึ่งตามมาตรา 7(1) ถึง (11) ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงจะเป็นปัญหาที่ต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศและโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่ผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ 1 ในต่างประเทศแล้ว เมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระให้โจทก์ จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทกับให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสามให้การเพียงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยด้วยกันเท่านั้น ทั้งที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ หากแต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 เพื่อใช้ในการซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศกับรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นคำฟ้องที่มีลักษณะเป็นคดีตามมาตรา 7(6) จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามมาตรา 9

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศ โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศแล้ว และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์หลายฉบับเพื่อขอรับเอกสารการขนส่งสินค้านำไปขอรับสินค้าก่อนแล้วจะชำระหนี้แก่โจทก์ในภายหลังตามที่กำหนดกันไว้ โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ และมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัด คงชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 170,259,563.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 124,588,828.61 บาท นับแต่ถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นหากจำเลยทั้งสามชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินจำนองตามโฉนดที่ดินเลขที่ 81812 เลขที่ดิน 263 ตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยทั้งสามให้การว่า คดีนี้เป็นการพิพาทกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามเลตเตอร์ออฟเครดิต ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ไม่เกี่ยวกับผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ 1 ที่อยู่ต่างประเทศ ไม่ใช่การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้คือศาลแพ่ง ไม่ใช่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม คดีของโจทก์ขาดอายุความสัญญาจำนองเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชี้สองสถานแล้ว ได้วินิจฉัยประเด็นข้อแรกเกี่ยวกับอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องนี้ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า ตามคำฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ทรัสต์รีซีท และการประกันเกี่ยวกับกิจการที่กล่าวถึง จึงเป็นข้อพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 7(6)

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติให้คำนิยามเกี่ยวกับ การซื้อขายระหว่างประเทศไว้ว่าหมายถึงอะไร จึงต้องอาศัยหลักทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ซึ่งหลักทั่วไปในเรื่องสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศได้บัญญัติไว้ในมาตรา 26(3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติดิ อันแฟร์ คอนแทรค เทอม แอค 1977 (TheUnfair Contract Term Act 1977) ของประเทศอังกฤษ หรือตามหลักกฎหมายการค้าระหว่างประเทศที่บัญญัติถึงหลักทั่วไปในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศว่า ต้องเป็นสัญญาซื้อขายหรือเป็นสัญญาที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในตัวสินค้าและคู่สัญญาจะต้องมีสถานประกอบการอยู่คนละประเทศหรือมีถิ่นที่อยู่คนละประเทศ แต่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ไม่เกี่ยวกับผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ คดีเรื่องนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งการวินิจฉัยว่าคดีเรื่องนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่นั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9 บัญญัติให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเสียเองจึงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ในการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ก็ด้วยมีจุดประสงค์เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาททางทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว เที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพและเหมาะสมยิ่งขึ้นเพราะคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาและคดีแพ่งโดยทั่ว ๆ ไป พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 จึงบัญญัติเป็นการเฉพาะเจาะจงไว้ใน มาตรา 7(1)ถึง (11) ให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าคดีประเภทใดบ้างที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น หากตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยเห็นได้ชัดแจ้งว่าเป็นคดีประเภทหนึ่งประเภทใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(1) ถึง (11) แล้วก็ต้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ส่วนกรณีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือศาลยุติธรรมอื่นให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด” นั้น ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายถึงกรณีที่มีปัญหาข้อสงสัยยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าคดีนั้นเป็นคดีประเภทใดประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(1) ถึง (11) ดังกล่าว หรือเป็นเรื่องที่ไม่แน่ชัดหรือเป็นที่สงสัยว่าเนื้อหาของข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การนั้นเกี่ยวกับเรื่องที่ถือว่าเป็นคดีประเภทใดประเภทหนึ่งตามมาตรา 7(1) ถึง (11) ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่จึงจะเป็นปัญหาที่ต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9 ซึ่งเกี่ยวกับคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศและโจทก์ได้รับชำระเงินให้แก่ผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ 1ในต่างประเทศแล้ว แต่เมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระให้โจทก์ จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าไปขอรับสินค้านำไปจำหน่ายก่อน แล้วจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในภายหลังแต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทกับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน และจำเลยทั้งสามก็ให้การรับว่า หนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อ และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ด้วย จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและต่อมาได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์นั้นเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งในข้อนี้ จึงเป็นที่ยุติว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศและทรัสต์รีซีทโดยชัดแจ้ง ซึ่งคดีลักษณะเช่นนี้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ตามมาตรา 7(5) ที่บัญญัติว่า “คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง” และ “(6) คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมตาม (5) การส่งเงินเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ทรัสต์รีซีท รวมทั้งการประกันเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว” ส่วนที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่าคดีไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น จำเลยทั้งสามอ้างแต่เพียงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยด้วยกันเท่านั้น ทั้งที่ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด หากแต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 เพื่อใช้ในการซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศกับรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นคำฟ้องที่มีลักษณะเป็นคดีตามบทบัญญัติมาตรา 7(6) ดังกล่าวข้างต้น และจำเลยทั้งสามก็ไม่ได้โต้แย้งว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศจำเลยที่ 1 กับผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ต่างประเทศ หรือไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัสต์รีซีทตามมาตรา 7(6) ดังกล่าวแล้วแต่อย่างใด ดังนี้ แม้ตามข้ออ้างของจำเลยทั้งสามนี้จะเป็นจริงเช่นนั้น ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงในเรื่องอำนาจศาลแต่อย่างใดจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9 และเมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขึ้นมาโดยอ้างว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยเหตุเดิมดังกล่าวแล้ว ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าแม้จะวินิจฉัยข้ออุทธรณ์นั้นให้และได้ความดังอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ก็ไม่ทำให้ผลในเรื่องอำนาจศาลในคดีนี้เปลี่ยนแปลงเช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นนี้ให้จำเลยทั้งสามค่าทนายความให้เป็นพับ

Share