แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ และไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อ แม้ตามสัญญาเช่าซื้อระบุให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินให้เช่าในอัตราค่าเช่าคิดเป็นจำนวนเงินเดือนละไม่น้อยกว่าค่างวดที่ต้องผ่อนชำระตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
สัญญาเช่าซื้อระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดหรือผิดสัญญาและต้องชำระเงินใด ๆ ให้แก่เจ้าของหรือในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงและผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเสียหายใด ๆ แก่เจ้าของ ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันผิดนัด ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายอันมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ได้อยู่แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา ๙๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องกับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน ๘๒๔,๔๙๓.๔๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี และค่าเสียหายเดือนละ ๒๙,๑๕๘.๘๘ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ผิดนัด
โจทก์มีหน้าที่ชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าเสียหายและค่าราคาใช้แทนสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๗๓๓,๔๕๘ บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท และชำระค่าเสียหายให้โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ ๗,๕๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคา แต่ทั้งนี้ไม่เกิน ๕ เดือน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ไม่ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๘๘๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกมีว่า โจทก์ควรได้รับค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์เพียงใด เห็นว่า แม้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๐ จะระบุให้จำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินให้เช่าในอัตราค่าเช่าคิดเป็นจำนวนเงินเดือนละไม่น้อยกว่าค่างวดที่ต้องผ่อนชำระตามสัญญาเช่าซื้อ ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง การที่โจทก์เรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกให้เช่าเดือนละ ๒๙,๑๕๘.๘๘ บาท อันเป็นอัตราเท่ากับเงินค่างวดที่จำเลยที่ ๑ จะต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อแต่ละเดือนให้โจทก์นั้น โจทก์กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ โดยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์อาจนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปให้เช่าได้ในราคาดังกล่าวจริง ค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวจึงสูงเกินส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เดือนละ ๗,๕๐๐ บาท ก็ต่ำไปยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เดือนละ ๙,๐๐๐ บาท นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องรวม ๔๐ เดือน เป็นเงิน ๓๖๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ ๙,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาเสร็จ แต่ไม่เกิน ๕ เดือน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า แม้ข้อสัญญาเช่าซื้อข้อ ๙ จะระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดหรือผิดสัญญาและต้องชำระเงินใด ๆ ให้แก่เจ้าของหรือในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงและผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเสียหายใด ๆ แก่เจ้าของ ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับจากวันผิดนัด ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายอันมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง ที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี มานั้น สูงเกินส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเป็นหนี้เงินแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ได้อยู่แล้ว ทั้งค่าเสียหายอื่นที่กำหนดให้โจทก์ได้รับชำระก็มิได้สูงมากนัก จึงเห็นควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน ๓๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๙,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาเสร็จ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน ๕ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.