คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3250/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยซึ่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยื่นคำร้องขอโอนที่ดินมรดกไปเป็นของจำเลยทั้งหมดโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายทราบมิใช่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกและขณะที่ยังจัดการมรดกไม่เสร็จจำเลยรับชำระหนี้จากลูกหนี้ของผู้ตาย แล้วไม่นำมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งห้าทันทีก็ไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเช่นเดียวกัน เพราะการจัดการมรดกยังไม่เสร็จ จำเลยมีอำนาจเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อแบ่งแก่ทายาทต่อไปได้ จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกทั้งหมดของผู้ตายและขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์อันดับ 1-6ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องให้ทรัพย์ทั้งหมดกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท ให้จำเลยส่งมอบสัญญากู้ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ 7-11 คืนแก่โจทก์ทั้งห้าและโจทก์ทั้งห้ามีสิทธิรับมรดกคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน กับให้นำทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกมาแบ่งปันแก่โจทก์ทั้งห้าคนละส่วนเท่า ๆ กัน
จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าทำให้เสื่อมประโยชน์แก่โจทก์ทั้งห้าขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกทั้งหมดของนางสาวแจ่ม หอมชื่น ผู้ตาย ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามน.ส.3 ก. เลขที่ 1604, 2341, 5047 และ 5040 ตำบลบ้านแก่งอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และยุ้งข้าวกับบ้านเลขที่ 23หมู่ 1 ตำบลสารจิตร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ให้กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวแจ่ม หอมชื่น ให้จำเลยส่งมอบสัญญากู้เงินหรือเงินของลูกหนี้ผู้ตายรายนายเฉลย อนุกูล จำนวนเงิน5,000 บาท รายนายทิ้ม ชนิดไทย จำนวน 2,000 บาท รายนายหลาบเหมันต์ จำนวน 5,000 บาท รายนายละออ หัตถา จำนวน 500 บาทและรายนายละออง หัตถา จำนวน 1,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งห้าและให้แบ่งทรัพย์มรดกของนางสาวแจ่มทั้งหมดดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนละหนึ่งในหกส่วนเท่ากัน หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ ให้ประมูลราคากันเองระหว่างทายาทของนางสาวแจ่มที่มีสิทธิรับมรดกแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งกันตามส่วน หากไม่เป็นที่ตกลงกันให้นำทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ถูกกำจัดมิให้ได้มรดกจึงมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนางสาวแจ่ม หอมชื่น ผู้ตายร่วมกับโจทก์ทั้งห้าและทายาทอื่นของผู้ตาย ให้แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งห้าและจำเลยคนละหนึ่งในเจ็ดส่วนและจำเลยไม่ต้องส่งมอบสัญญากู้ยืมเงินหรือเงินที่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามบัญชีทรัพย์อันดับ 7 ถึง 11 (เอกสารท้ายฟ้อง) ให้แก่โจทก์ทั้งห้า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการวมแล้วไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าเฉพาะข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกไปยื่นคำร้องขอโอนที่ดินมรดกทั้งสี่แปลงเป็นของจำเลยทั้งหมด โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งห้าทราบกับรับชำระหนี้จากลูกหนี้ของผู้ตายแล้วไม่แบ่งเงินแก่โจทก์ทั้งห้าทันทีถือว่าจำเลยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 แล้ว หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแจ่ม หอมชื่น ผู้ตายแล้วจำเลยไปขอโอนที่ดินมรดกทั้งสี่แปลงไปเป็นของจำเลยทั้งหมดโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งห้าทราบ และขณะที่ยังจัดการมรดกไม่เสร็จนั้น จำเลยรับชำระหนี้จากลูกหนี้ของผู้ตาย แล้วยังไม่นำมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งห้า เห็นว่า การที่จำเลยเพียงแต่ยื่นคำร้องขอโอนที่ดินเป็นของจำเลยนั้นมิใช่การยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก ส่วนที่จำเลยรับชำระหนี้แล้วไม่แบ่งเงินแก่โจทก์ทั้งห้าทันทีนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า การจัดการมรดกยังไม่เสร็จจำเลยก็มีอำนาจเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อแบ่งแก่ทายาทต่อไปได้การที่จำเลยยังไม่แบ่งเงินแก่โจทก์ทั้งห้าทันทีจึงไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเช่นเดียวกัน จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share