แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขับไล่ จำเลยได้ทำยอมต่ออำเภอมีความว่า “เมื่อครบกำหนด 3 เดือนจะออกไป” จำเลยจะนำสืบว่า จำเลยได้ตกลงว่า “ถ้าหาที่อยู่ใหม่ได้ก็จะออกไปภายใน 3 เดือน” นั้นไม่ได้เพราะเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญา ต้องห้ามตาม วิ.แพ่ง ม.94 (ข)
ทำยอมต่ออำเภอขอผัดออกจากที่เช่า ถือว่าเป็นการยอมตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ผู้ให้เช่าฟ้องขับไล่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าซึ่งมีค่าเช่าเดือนละ ๗ บาท โดยจำเลยทำยอมต่ออำเภอขอผัด ๓ เดือนแล้วไม่ยอมออก
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำยอมต่อกรมการอำเภอจริงแต่มีข้อแม้ว่าถ้าหาที่อยู่ใหม่ได้ ก็จะออกไปภายใน ๓ เดือน ข้อแม้นี้อำเภอมิได้จดไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง
ศาลชั้นต้น ไม่ยอมให้จำเลยสืบว่าสัญญายอมความมีเงื่อนไข เพราะเป็นการสืบแก้ไขเพิ่มเติมเอกสาร เมื่อจำเลยยอมเลิกสัญญาเช่า ก็ไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ.๒๔๘๖ พิพากษาให้จำเลยออกจากห้องเช่า
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา,ศาลฎีกาเห็นว่า ๑. ที่ศาลชั้นต้นไม่ยอมให้จำเลยนำสืบว่า จำเลยได้ตกลงว่า “ถ้าหาที่อยู่ใหม่ได้ก็จะออกไปภายใน ๓ เดือนนั้น” ชอบแล้ว เพราะเป็นเรื่องสัญญายอมความ ก.ม.บังคับให้ต้องมีพะยานเอกสารมาแสดง ในตัวสัญญามีความว่า “เมื่อครบกำหนด ๓ เดือนจะออกไป” ที่จำเลยขอสืบเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญายอมที่ทำที่อำเภอต้องห้ามตาม ว.แพ่ง ม.๙๔ (ข) ๒. พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ ม.๑๔ ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิให้ผู้เช่าเลิกใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่า เว้นแต่เมื่อได้รับความยินยอมของผู้เช่าประการ ๑ เมื่อคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าเห็นสมควรและให้ความยินยอมอีกประการ ๑ ฯลฯ คดีนี้จำเลยทำยอมต่ออำเภอแล้วว่าจะออกไปภายใน ๓ เดือน เป็นการยอมตามความหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯแล้ว เพราะ พ.ร.บ.นั้น ไม่ได้กำหนดว่า ต้องหาต่อหน้าคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าหรือมีวิธีการพิเศษอย่างใด พิพากษายืน ให้จำเลยออกจากห้องเช่า