คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์โดยมีข้อตกลงให้มีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างทุกคนของจำเลยทั้งสามขอให้บังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ ดังนี้ โจทก์ในฐานะสหภาพแรงงานย่อมมีอำนาจฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นสัญญา ระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ กรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าลูกจ้างของจำเลยทั้งสามเป็นสมาชิกของโจทก์หรือไม่
บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องหอพักของพนักงานระหว่างโจทก์จำเลยมีว่า โจทก์ตกลงรับหลักการให้ยุบที่พักอาศัยของบริษัทจำเลยทั้งสามได้โดยทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาในรายละเอียดร่วมกันและต้องทำความตกลงกันให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2529 และให้ลูกจ้างที่พักอาศัยทุกคนย้ายออกไปภายใน 2 เดือนหลังจากตกลงกันได้ เช่นนี้ ความสำคัญของข้อตกลงนี้จึงมีว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์ให้มีที่พักอาศัยของลูกจ้างต่อไปอีก ส่วนข้อความว่าจะต้องมีการตกลงกันให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2529 นั้นเป็นเพียงรายละเอียด ทั้งยังแสดงเจตนาของคู่สัญญานั้นว่าไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ลูกจ้างจะต้องออกไปจากหอพักอย่างช้าที่สุดคือสิ้นปี พ.ศ. 2529 เมื่อปรากฏว่าโจทก์จำเลยไม่อาจเจรจาทำความตกลงกันได้ภายในเวลาที่กำหนด และเวลาก็ได้ล่วงพ้นปี พ.ศ. 2529 ไปแล้วจำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิประกาศให้ลูกจ้างออกจากหอพักได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๙ จำเลยได้ทำสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันทำสัญญานั้น ตามสัญญาข้อ ๕ โจทก์ตกลงรับหลักการให้ยุบหอพักของจำเลยโดยทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาในรายละเอียดร่วมกันและต้องทำความตกลงให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ กับให้ลูกจ้างที่พักอาศัยย้ายออกไปภายใน ๒ เดือน โจทก์กับจำเลยได้เจรจากันในหลักการต่างๆ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๐ จำเลยได้ประกาศให้พนักงานที่พักอาศัยอยู่ในหอพักย้ายออกไปภายในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๓๐ หากพนักงานขัดขืนจะถือว่าจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างและจะพิจารณาให้พ้นจากการเป็นพนักงานอันเป็นการขัดต่อสัญญาข้อตกลงดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อที่ ๕ และยกเลิกคำสั่งที่ให้พนักงานออกจากหอพัก
จำเลยให้การว่า บันทึกการประชุมท้ายคำฟ้องไม่ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติให้ใครฟ้องใครในข้อหาใด ผู้ลงชื่อมอบอำนาจให้นายชาญ เขียนทอง ฟ้องคดีแทนโจทก์ ไม่ปรากฏในคำฟ้องว่าเป็นกรรมการของโจทก์ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยได้ออกประกาศให้พนักงานหรือลูกจ้างออกจากหอพัก โจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นสหภาพแรงงานไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง และไม่ปรากฏว่า พนักงานหรือลูกจ้างดังกล่าวเป็นสมาชิกของโจทก์กับมิได้มอบหมายให้โจทก์ดำเนินคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ สร้างหอให้ลูกจ้างอาศัยโดยไม่มีเจตนาให้ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ พักอาศัยด้วย แต่ได้มีลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เข้าไปพักอาศัยโดยไม่มีสิทธิ เหตุที่ให้เลิกหอพักเพราะลูกจ้างประพฤติตัวไม่เรียบร้อย แต่การเจรจาเพื่อเลิกหอพักนี้ไม่เป็นผล จำเลยที่ ๑ มีความจำเป็นต้องขยายกิจการ จำต้องขยายโรงงานเดิม จึงได้มีการทำสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมีหลักการว่าคู่สัญญาตกลงยกเลิกหอพักและทั้งสองฝ่ายจะพิจารณารายละเอียดร่วมกันให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ และลูกจ้างที่พักอาศัยทุกคนต้องย้ายออกไปภายใน ๒ เดือน หลังจากตกลงกันได้แต่ในการเจรจากันโจทก์ประวิงเวลาและเรียกค่าตอบแทนในการขนย้ายออกจากหอพักเป็นจำนวนสูงมากโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล ประกาศของจำเลยที่ ๑ เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยออกคำสั่งให้ลูกจ้างออกจากที่พักโดยพลการเป็นการผิดข้อตกลง พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายคำให้การ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า โจทก์ในฐานะสหภาพแรงงานมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิคือลูกจ้างของจำเลยทั้งสามบางส่วนที่อาศัยอยู่ในหอพัก ซึ่งไม่ปรากฏว่าลูกจ้างดังกล่าวเป็นสมาชิกของโจทก์และมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๖ พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๗ จำเลยทั้งสามได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้กับโจทก์ตามภาพถ่ายบันทึกฉบับลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๗ โดยมีข้อกำหนดว่าให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อลูกจ้างทุกคนของจำเลยทั้งสาม ดังนั้นคำฟ้องของโจทก์ในฐานะสหภาพแรงงานจึงเป็นคำฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวอันเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคู่กรณีต่อกัน กรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าลูกจ้างของจำเลยทั้งสามเป็นสมาชิกของโจทก์หรือไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสามมีสิทธิบังคับให้ลูกจ้างออกจากหอพักตามประกาศของจำเลยทั้งสามฉบับลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๐ หรือไม่ เห็นว่า ความในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เอกสารหมายเลข ๓ ท้ายคำให้การมีข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องหอพักของพนักงานไว้เพียงข้อเดียวคือ ข้อตกลงข้อที่ ๕ ซึ่งมีข้อความว่า สหภาพแรงงานฯ (โจทก์) ตกลงรับหลักการให้ยุบที่พักอาศัยของบริษัทฯ (จำเลยทั้งสาม) ได้โดยทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาในรายละเอียดร่วมกันและต้องทำความตกลงกันให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ และให้ลูกจ้างที่พักอาศัยทุกคนย้ายออกภายใน ๒ เดือนหลังจากตกลงกันได้ เช่นนี้ความสำคัญของข้อตกลงนี้จึงมีว่าทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเห็นชอบพร้อมกันในหลักการที่จะไม่ประสงค์ให้มีที่พักอาศัยของลูกจ้างของจำเลยทั้งสามนี้ต่อไปอีกส่วนข้อความต่อมาที่ว่าจะมีการเจรจาต่อไปโดยจะต้องตกลงกันให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ นั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่จะพึงตกลงกันในเรื่องอื่น ทั้งยังแสดงว่าเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสามนั้นไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ลูกจ้างของจำเลยทั้งสามจะต้องออกจากหอพักไปอย่างช้าที่สุดคือสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามไม่อาจทำความตกลงกันได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด การเจรจาที่ตกลงกันไม่ได้นี้ก็หาเป็นเหตุให้หลักการสำคัญดังกล่าวคือการยุบที่พักอาศัยของจำเลยทั้งสามนั้นเป็นอันยกเลิกหรือไม่มีผลบังคับต่อไปไม่ เมื่อปรากฏว่าวันที่จำเลยทั้งสามประกาศให้ลูกจ้างออกจากหอพักก็ล่วงพ้นปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มาแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิให้พนักงานของจำเลยทั้งสามออกไปจากหอพักของจำเลยที่ ๑ ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสามที่ให้พนักงานออกจากที่พักอาศัยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share