แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนดังกล่าว ซึ่งมีความหมายว่าจำเลยทั้งสามจำหน่ายเฮโรอีนที่มีไว้ในครอบครองไปทั้งหมดแม้ทางพิจารณาจะปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้เก็บซ่อนเฮโรอีนไว้ 1ถุง เพื่อจำหน่ายแก่ผู้มีชื่อในภายหลัง ก็ต้องถือว่าโจทก์มิได้ประสงค์จะให้ลงโทษในกรรมนี้ ศาลจะเพิกถอนลงโทษจำเลยที่ 3 โดยอาศัยข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าเป็นผิดอีกกรรมหนึ่งด้วยไม่ได้ เพราะเป็นการเกินจากคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 เป็นบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดที่มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 มีปริมาณไม่ถึง 20กรัมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อจำเลยทั้งสามมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองจำนวน 4.436 กิโลกรัม ซึ่งตามมาตรา 15วรรคสองให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 66 อยู่แล้ว จึงไม่ต้องนำมาตรา 67 มาใช้ในการกำหนดโทษอีก.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกับพวกมีเฮโรอีนจำนวน 4.436 กิโลกรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำเลยกับพวกได้จำหน่ายเฮโรอีนดังกล่าวให้แก่นายวีระพันธ์ ศุภกิจจารักษ์ ซึ่งปลอมเป็นคนซื้อ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66,67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเฮโรอีน ความผิดสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองฐานนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ใช้กฎหมายที่เป็นบทหนักที่สุดลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90แต่บทกฎฆมายทั้งสองฐานมีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2ฐานจำหน่ายเฮโรอีน ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้ตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 มีความผิดสองฐานต่างกรรมกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกตลอดชีวิต ฐานจำหน่ายเฮโรอีนจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จึงต้องเปลี่ยนกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 3 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย 25 ปี ฐานจำหน่ายเฮโรอีน 25 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 3 50 ปี ของกลางให้ริบ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิด 2 กรรม เพราะนอกจากร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ได้เอาเฮโรอีนจำนวน 1 ถุง น้ำหนัก 350 กรัม ออกไปซ่อนไว้เพื่อขายกับสิบตำรวจโทจรินทร์ภายหลัง จำเลยที่ 3 จึงต้องมีความผิดอีกกระทงหนึ่งนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตอนนี้ไม่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ โดยโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเฮโรอีนจำนวน 4.436 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนดังกล่าว ซึ่งมีความหมายว่าจำเลยทั้งสามจำหน่ายเฮโรอีนที่มีไว้ในครอบครองไปทั้งหมด แม้ทางพิจารณาจะปรากฏว่าจำเลยที่ 3ได้เก็บซ่อนเฮโรอีนไว้ 1 ถุง เพื่อจำหน่ายแก่สิบตำรวจโทจรินทร์ในภายหลังก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์มิได้ประสงค์จะให้ลงโทษในกรรมนี้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 โดยอาศัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้เพราะเป็นการเกินจากคำฟ้องของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานมีเฮโรอีนของกลางไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงกระทงเดียวนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 ด้วยนั้น เห็นว่า มาตรา 67 เป็นบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดที่มียาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 มีปริมาณไม่ถึงยี่สิบกรัมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีนี้จำเลยทั้งสามมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองจำนวนถึง 4.436 กิโลกรัม ซึ่งตามมาตรา 15 วรรคสองให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 66 อยู่แล้วจึงไม่ต้องนำมาตรา 67 มาใช้ในการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ต้องนำมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาเป็นบทกำหนดโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.