แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีแพ่งเมื่อคำฟ้องของโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงชัดแจ้งแล้ว ศาลมีหน้าที่ยกตัวบทกฎหมายขึ้นปรับแก่คดีเอง โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการ มีหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ย่อมแปลได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล จึงต้องรับผิดร่วมด้วยกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนในมูลละเมิดที่จำเลยที่1 ได้กระทำไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 ดังนั้น การที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งให้ขับรถไปรับนายทหารเพื่อไปที่ท่าอากาศยานแต่จำเลยที่ 1 ขับรถไปบ้านของจำเลยที่ 1 ก่อนจึงเกิดเหตุขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ขับรถออกไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แม้จำเลยที่ 1จะขับรถไปธุระส่วนตัวก็ตาม ตราบใดที่รถยังไม่กลับถึงโรงรถ ก็ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่อยู่จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนของตน
เมื่อเหตุละเมิดเกิดขึ้นโดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างขับรถยนต์ชนกันด้วยความประมาทเลินเล่อมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน ก็เท่ากับทั้งสองฝ่ายต่างทำละเมิดต่อกันเท่า ๆ กันค่าเสียหายย่อมเป็นอันพับกันไป
โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ตายซึ่งนั่งมาในรถของโจทก์ที่ 2 แม้ว่าผู้ตายจะเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 แต่ก็มิได้มีส่วนร่วมในความประมาทของคนขับรถของโจทก์ที่ 2 ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 โดยเฉลี่ยรับผิดเพียงครึ่งเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนายสมนึกผู้ตาย โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ม. – ๕๖๓๑ ได้นำรถดังกล่าวประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ ๓ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียนตรากงจักร ๕๓๒๐ และอยู่ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ขับรถยนต์ดังกล่าวไปในราชการหรือในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ วันเกิดเหตุนายตี่ตี๋ได้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ ไปตามถนนพหลโยธิน ได้มีจำเลยที่ ๑ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ตามหลังมาในทิศทางเดียวกันด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังและด้วยความเร็วสูงทั้งไม่เว้นระยะห่างตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อรถของโจทก์ที่ ๒ ใช้ความเร็วต่ำจึงเป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยที่ ๑ ขับพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ พุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ที่จอดข้างถนนซ้ำอีก เป็นผลให้นายสมนึกผู้นั่งมาในรถของโจทก์ที่ ๒ ถึงแก่ความตาย รถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ เสียหาย โจทก์ที่ ๓ ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้โจทก์ที่ ๒ จำนวนหนึ่ง โดยผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ ๑ ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งกระทำการหรือปฏิบัติราชการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างหรือตัวการจึงต้องร่วมรับผิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุเกิดเพราะความผิดของนายตี่ตี๋คนขับรถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง และให้บังคับโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการสังกัดกรมสรรพาวุธทหารบก ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ นำรถไปใช้ในธุรกิจส่วนตัว จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของคนขับรถของโจทก์ที่ ๒ มิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๑ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ ๒ ให้การฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ที่ ๒
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๑เป็นเงิน ๗๙,๔๕๐ บาท โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินแก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๒,๕๐๐ บาท คำขอของโจทก์ทั้งสามนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๑ กับคนขับรถของโจทก์ที่ ๒ มีส่วนประมาทเท่ากัน และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า
จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดในฐานะที่จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง ทั้งในชั้นชี้สองสถานก็มิได้กำหนดประเด็นให้จำเลยที่ ๒ รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการของจำเลยที่ ๒ และปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถไปในเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สำหรับคดีแพ่งนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องบรรยายข้อเท็จจริงชัดแจ้งแล้ว ศาลมีหน้าที่ยกตัวบทกฎหมายขึ้นปรับแก่คดีเอง คดีนี้โจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการ มีหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ย่อมแปลได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้แทนในมูลละเมิดที่จำเลยที่ ๑ ได้กระทำไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๖ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถไปในเรื่องส่วนตัวโดยจำเลยที่ ๑ ได้รับคำสั่งให้ขับรถไปรับนายทหารของกรมสรรพาวุธทหารบก แต่จำเลยที่ ๑ กลับขับรถออกนอกกรมสรรพาวุธทหารบกไปธุระส่วนตัวก่อนเวลาปฏิบัติราชการจึงเกิดเหตุคดีนี้ พิเคราะห์แล้วได้ความจากจ่าสิบเอกถวิล กาญจนดุล ว่า จ่าสิบเอกถวิลมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าโรงรถ กรมสรรพาวุธทหารบก มีหน้าที่จัดรถไปราชการตามคำสั่งของทางราชการ มีร้อยโทจเร (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นผู้บังคับบัญชา วันเกิดเหตุเวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา ร้อยโทจเรสั่งให้จัดรถไปรับนายทหารที่สโมสรกรมสรรพาวุธทหารบกเวลา ๑๖ นาฬิกา เพื่อไปท่าอากาศยานดอนเมือง จ่าสิบเอกถวิลจึงสั่งจำเลยให้จัดการตามที่ได้รับคำสั่งมา เวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา ๓๐ นาที จำเลยที่ ๑ นำรถออกไปทราบว่าจะไปบ้านทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จึงเกิดเหตุคดีนี้ เห็นว่าการที่จำเลยที่ ๑ สามารถนำรถยนต์ออกจากโรงรถได้ก็เพราะได้รับความยินยอมจากจ่าสิบเอกถวิลผู้บังคับบัญชาถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ออกไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แม้ถึงหากจำเลยที่ ๑ จะขับรถยนต์ไปธุระส่วนตัวก็ตาม ตราบใดที่รถยนต์ยังไม่กลับถึงโรงรถ ก็ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้แทนตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ ๒ มีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ กับชำระค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๓ หรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ และนายตี่ตี๋ซึ่งเป็นคนขับรถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ ต่างขับรถยนต์ชนกันด้วยความประมาทเลินเล่อมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากันดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้ว ก็เท่ากับว่าทั้งสองฝ่ายต่างทำละเมิดต่อกันเท่า ๆ กันค่าเสียหายย่อมเป็นอันพับกันไป จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๒ และไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ ๓ แต่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนายสมนึกผู้ตาย เพราะแม้ว่านายสมนึกจะเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ ๒ ก็ตามแต่ก็มิได้มีส่วนร่วมในความประมาทของนายตี่ตี๋คนขับรถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ ด้วยโดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ต้องเฉลี่ยความรับผิดชอบเพียงครึ่งเดียวคิดเป็นเงิน๓๒,๘๒๕ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๓๒,๘๒๕ บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์