คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2101/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยถืออาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนไว้แล้วจ่อไปทาง ส.เป็นการกระทำที่ไม่สมควร เป็นการเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น มิใช่วิสัยที่ปกติชนจะพึงกระทำ เมื่อ ส. ตกใจใช้มือปัดเป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่น กระสุนปืนถูก ส. บาดเจ็บสาหัส การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสแม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นการกระทำผิดโดยเจตนาขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาเป็นเรื่องประมาทซึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 บัญญัติมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งจำเลยไม่หลงต่อสู้ดังนี้ ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสอง ปรับ 400 บาท ให้ยกฟ้องในข้อหาอื่น ของกลางคืนเจ้าทรัพย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 จำคุก 2 ปี โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และยิงปืนในหมู่บ้าน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่านายสมิลและไม่มีเจตนายิงปืนในหมู่บ้านฎีกาโจทก์ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หรือไม่ ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2525 เวลาประมาณ 19นาฬิกา ขณที่นายสมิลกับนางพิมพ์ภรรยาและบุตร นายผัน พูลเกตุนายสวิง ไทยบุญ กำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ ได้ยินเสียงจำเลยร้องเรียกอยู่หน้าบ้าน นายสมิลจึงลงจากเรือนมาหาจำเลย จำเลยพูดชวนนายสมิลไปบ้านจำเลย แต่นายสมิลไม่ไป จำเลยได้เอาอาวุธปืนลูกซองยาวที่ถือมาจ่อที่หน้าอกนายสมิล นายสมิลเอามือปัดตรงกระบอกปืนกระสุนปืนลั่นขึ้นถูกนายสมิลที่บริเวณโคนขา ล้มลงหมดสติ จำเลยได้ถืออาวุธปืนออกจากบ้านไป นางพิมพ์กับพวกได้นำนายสมิลส่งโรงพยาบาลจังหวัดพิจิตร แล้วไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพิจิตรร้อยตำรวจตรีวรพล พุ่มประทีป พนักงานสอบสวนรับแจ้งแล้วออกไปตรวจที่เกิดเหตุได้หมอนกระสุนปืน 1 ชิ้น ได้ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุไว้ในคืนนั้นจำเลยเข้ามอบตัวสู้คดี นายสมิลรักษาตัวอยู่ประมาณ 6 เดือนยังไม่หายเป็นปกติ

จำเลยนำสืบว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนลูกซองยาว 1 กระบอก และได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รักษาความสงบภายในหมู่บ้านคืนเกิดเหตุจำเลยออกตรวจตรารักษาความสงบในหมู่บ้าน เมื่อมาถึงทางแยกเข้าบ้านผู้เสียหายเห็นเงาคนตะคุ่ม ๆ ซุ่มอยู่บริเวณกอกล้วยคิดว่าคนร้ายจึงยกอาวุธปืนส่องไปตามเงาตะคุ่ม ๆ ทันใดนั้นเงาตะคุ่มดังกล่าวได้กระโดดเข้าแย่งอาวุธปืนจากจำเลย เป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นขึ้น 1 นัด เงานั้นล้มลงจำเลยตกใจวิ่งกลับบ้านไปเล่าเรื่องให้ภรรยาฟัง ภรรยาบอกให้ไปแจ้งความจำเลยจึงไปแจ้งความแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าผู้เสียหายมาแจ้งความแล้วจำเลยจึงมอบตัวสู้คดี

ที่จำเลยฎีกาข้อเท็จจริงว่า นายสมิล นางพิมพ์ภรรยานายสมิลนายผัน พูลเกตุ และนายสวิง ไทยบุญ เบิกความแตกต่างขัดกัน ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยไปร้องเรียกนายสมิลให้ลงมาจากบ้านนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อร้อยตำรวจตรีวรพล พุ่มประทีป ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ได้ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และทำแผนที่ไว้ ปรากฏว่าจุดที่เกิดเหตุเป็นลานโล่งอยู่ห่างบันไดบ้านเพียง 10 เมตร มีไฟนีออนติดอยู่ที่กันสาดชานเรือนตรงหัวบันได 1 ดวง สามารถมองเห็นได้ ดังนี้ข้อที่จำเลยอ้างว่าเห็นเงาคนตะคุ่ม ๆ จึงไม่เป็นความจริง และแม้นายสมิล นางพิมพ์ นายผัน และนายสวิง จะเบิกความแตกต่างกันไปบ้างก็เป็นเพียงพลความเพราะที่เกิดเหตุเป็นลานโล่งหน้าบ้านของนายสมิล ถ้าจำเลยไม่ไปร้องเรียกเหตุใดนายสมิลจะลงมาพบจำเลยตรงลานบ้านดังกล่าว ประกอบกับจำเลยนำสืบรับว่าจำเลยใช้อาวุธปืนส่องไปทางนายสมิล นายสมิลปัดอาวุธปืนเป็นเหตุให้ปืนลั่น ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยถืออาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนไว้แล้วจ่อไปทางนายสมิลผู้เสียหายเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เป็นการเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น มิใช่วิสัยที่ปกติชนจะพึงกระทำ เมื่อนายสมิลตกใจใช้มือปัด เป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่น กระสุนปืนถูกนายสมิลบาดเจ็บสาหัส การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส

ที่จำเลยฎีกาอีกว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายสมิลได้รับบาดเจ็บสาหัส ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นข้อเท็จจริงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ที่แก้ไขใหม่วรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียดเช่นเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก และรับของโจร หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้” เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นการกระทำผิดโดยเจตนา แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาเป็นเรื่องประมาทซึ่งกฎหมายบัญญัติมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงต่อสู้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นได้ลดโทษให้แก่จำเลยโดยเห็นว่าจำเลยนำสืบพยานเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย จึงชอบที่จะลดโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษจำคุกให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยมีกำหนด1 ปี นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share