คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุต่าง ๆ ที่เจ้าหนี้ยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลมี คำสั่งยกเลิกการล้มละลายของบริษัทลูกหนี้นั้น ล้วนแต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อน วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งเป็นข้อที่ ศาลชั้นต้นจะพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่จะมี คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 14 แห่ง พระราชบัญญัติ ล้มละลาย คือถ้ามีเหตุดังกล่าวที่ไม่ควรให้ ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องโจทก์หรือยกคำร้องขอ ให้ล้มละลายของผู้ชำระบัญชีเสียได้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้ มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและถึงที่สุดแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกเอาเหตุต่างๆ ดังกล่าวมาขอให้ ศาลชั้นต้นสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(2) ได้อีก
คำร้องของเจ้าหนี้ที่อ้างเหตุว่ามติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ ไม่ควรขอให้ศาลพิพากษาให้บริษัทลูกหนี้ล้มละลายมิได้ นอกเหนือไปจากบทบัญญัติมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย.และไม่ขัดต่อกฎหมายนั้นเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ ทำลายมติดังกล่าวและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้ไม่มี สิทธิที่จะหยิบยกเอาเหตุดังกล่าวมาขอให้ศาลชั้นต้นสั่ง ยกเลิกการล้มละลายได้อีก

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากผู้ชำระบัญชีของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้บริษัทล้มละลาย ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและต่อมาได้พิพากษาให้ล้มละลาย นายเสรีเจ้าหนี้ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์นายเสรีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ไม่ควรถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายด้วยเหตุ 1.ผู้ชำระบัญชีไม่มีอำนาจขอให้บริษัทล้มละลาย 2. มติที่ประชุมที่เจ้าหนี้ไม่ควรขอให้ศาลพิพากษาให้บริษัทลูกหนี้ล้มละลายมิได้นอกเหนือไปจากบทบัญญัติของ มาตรา 31 และไม่ขัดต่อกฎหมาย 3. ผู้ชำระบัญชีลงบัญชีและทำงบดุลไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย

ผู้ชำระบัญชียื่นคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ชำระบัญชีทำบัญชีงบดุลไม่ถูกต้อง ฟังยุติไม่ได้ว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน จึงไม่มีเหตุเพียงพอที่จะให้บริษัทลูกหนี้ล้มละลาย มีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายของบริษัทราชาเงินทุน จำกัดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 135(2)

ผู้ชำระบัญชีอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ชำระบัญชีทำบัญชีงบดุลถูกต้อง ส่วนข้อที่อ้างว่าผู้ชำระบัญชีไม่มีอำนาจขอให้บริษัทลูกหนี้ล้มละลายนั้น ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกปัญหาดังกล่าวมาขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายไม่ได้ พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของผู้ร้องที่หยิบยกเหตุเรื่องประกาศแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีว่ามิได้ประกาศในราชกิจจานุเบิกษาก็ดี และที่หยิบยกเรื่องคณะผู้ชำระบัญชีว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย เช่นทำบัญชีงบดุลไม่ถูกต้องก็ดี เหตุต่าง ๆ ดังกล่าวล้วนแต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดทั้งสิ้นซึ่งเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นข้อที่ศาลชั้นต้นจะพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 อยู่แล้วกล่าวคือถ้ามีเหตุดังกล่าวที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายศาลก็ไม่สั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์หรือยกคำร้องขอให้ล้มละลายของผู้ชำระบัญชีเสียได้ แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดตามคำร้องของผู้ชำระบัญชี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2523 ถึงที่สุดแล้วจนต่อมาได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2524 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกเอาเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนวันศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมาอ้างเป็นเหตุขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 135(2) ในชั้นนี้ได้ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ข้อฎีกาของผู้ร้องที่ว่าผู้ชำระทำบัญชี งบดุลไม่ถูกต้อง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนคำร้องของผู้ร้องที่อ้างเหตุว่ามติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ไม่ควรขอให้ศาลพิพากษาให้บริษัทราชาเงินทุนจำกัด ลูกหนี้ล้มละลายมิได้นอกเหนือไปจากบทบัญญัติมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และไม่ขัดต่อกฎหมายนั้น ก็ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ทำลายมติดังกล่าวตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยสั่งห้ามมิให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามมตินั้น และพิพากษาให้บริษัทลูกหนี้ล้มละลายไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกเอาเหตุดังกล่าวมาขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกการล้มละลายได้อีก

พิพากษายืน

Share