คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 561/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บิดามารดาทำพินัยกรรมยกที่ดินให้บุตรคนหนึ่ง โดยเงื่อนไขว่าบุตรต้องออกเงินทำศพบิดามารดาคนละ 2,000 บาท ถ้าบุตรไม่ออกเงินค่าทำศพ ให้ที่ดินตกแก่ทายาทต่อไป บุตรปลอมใบมอบอำนาจของบิดามารดาโอนขายที่ดินนั้นให้บุตรเมื่อบิดาตายแล้ว มารดาทราบจึงฟ้องและศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอน บุตรขอรับมรดกของบิดามารดาจึงไปคัดค้าน บุตรจึง วางเงิน 2,000 บาท ค่าทำศพก่อนที่จะได้มีการเผาศพดังนี้ เป็นการที่บุตรไม่เจตนาเสียค่าทำศพมาตั้งแต่ต้นจนบิดพริ้วต่อไปไม่ได้จึงจำต้องวางเงินพอเป็นพิธีเพื่อฟ้องเรียกทรัพย์ตามพินัยกรรมหาใช่ปฏิบัติตามเงื่อนไขให้สมตามความมุ่งหมายของผู้ทำพินัยกรรมไม่ บุตรไม่มีสิทธิฟ้องร้องตามพินัยกรรม

ย่อยาว

คดีเรื่องนี้พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ฟ้องแทนนายช่วงผู้เป็นบุตรของนางบุญจำเลย โดยกล่าวความว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2489 นายวัน นางบุญได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1900 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการพร้อมด้วยเรือน 1 หลัง ให้แก่นางช่วง โดยมีเงื่อนไขว่าถ้านายวันหรือนางบุญถึงแก่กรรมไปก่อน หรือหลังก็ตาม นางช่วงจะต้องออกเงินค่าทำศพให้แก่ผู้ถึงแก่กรรมคนละ 2,000 บาท ถ้านางช่วงไม่ออกเงินค่าทำศพดังกล่าว ก็ให้ที่ดินแปลงนี้ตกแก่ทายาทต่อไปต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2491 นายวันนางบุญได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงที่กล่าวให้แก่นางช่วงเป็นเงิน 4,000 บาท และนายวันถึงแก่ความตายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2492 ครั้นวันที่ 22 มีนาคม 2493นางบุญได้เป็นโจทก์ฟ้องนางช่วง ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ขอให้ถอนชื่อนางช่วงออกจากโฉนดที่ดินแปลงนี้ ผลที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้นางบุญชนะคดี โดยให้นายวันนางบุญกลับเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ตามเดิม ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2495

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2495 นางช่วงได้นำเงิน 2,000 บาท ไปมอบให้แก่นางบุญจำเลยผู้เป็นมารดา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำศพของนายวันตามพินัยกรรม แต่นางบุญไม่ยอมรับ และวันที่ 29 มกราคม 2496 นางช่วงได้นำเงิน 2,000 บาท ไปมอบแก่กรรมการวัดบางพลีใหญ่กลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำศพนายวันตามพินัยกรรมแล้ว จึงขอให้ศาลพิพากษาถอนชื่อนายวันออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 1900 และลงชื่อนางช่วงแทนสืบไปตามพินัยกรรม

นางบุญจำเลย ให้การรับว่า นายวันและจำเลยได้ทำพินัยกรรมดังฟ้องโจทก์จริง แต่ต่อสู้ว่า

1) พินัยกรรมฉบับนั้น ไม่สมบูรณ์ตามแบบที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658(4) ใช้บังคับไม่ได้

2) นางช่วงได้หลอกลวงให้จำเลย และนายวันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ แล้วเอาไปโอนโฉนดที่ 1900 เป็นขายให้แก่นางช่วงซึ่งเป็นการใช้กลฉ้อฉล ทำให้พินัยกรรมเสียผลไปทั้งฉบับ โดยคิดโกงไม่จ่ายเงินค่าทำศพนายวันตามเงื่อนไขในพินัยกรรมนั้น และทำให้ทายาทคนอื่น ๆ ตามพินัยกรรมพลอยหมดสิทธิไปด้วย จำเลยได้บอกตัดมิให้นางช่วงรับมรดกตามพินัยกรรมฉบับนั้นแล้ว นางช่วงจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม มาตรา 1605-1606

3) นางช่วงเป็นผู้อกตัญญูต่อบิดา มารดาอย่างร้ายแรง ได้ก่อกรรมทำเข็ญให้แก่บิดา มารดามากมายนัก ไม่สมควรได้รับมรดกรายนี้

นายจอนบุตรคนหนึ่งของนายวันร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม และขอให้ถือคำให้การของนางบุญ จำเลยผู้เป็นมารดาเป็นคำให้การต่อสู้คดีของผู้ร้องด้วยศาลอนุญาต

ศาลชั้นต้นกะประเด็น 3 ข้อ ดังปรากฏตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 18 มีนาคม 2496 ว่า

คดีมีประเด็นดังนี้ คือ

1) พินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องนี้ ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย

2) แม้จะสมบูรณ์ นางช่วงเป็นคนใช้กลฉ้อฉลทำให้ทายาทคนอื่นเสื่อมสิทธิ

3) นางช่วงมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในพินัยกรรมข้อ 4 และเป็นคนอกตัญญู

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานบุคคล โดยวินิจฉัยแต่พยานเอกสารที่คู่ความรับกันแล้ว วินิจฉัยตามข้อประเด็นเหล่านี้ว่า

1) พินัยกรรมฉบับนี้ ขาดข้อความตามบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1658(4) ไม่สมบูรณ์ฐานเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง แต่ได้กระทำถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาจึงรับฟังได้ว่าเป็นพินัยกรรมสมบูรณ์อย่างพินัยกรรมธรรมดา

2) นางช่วงได้ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้จำเลยและนายวัน ผู้ทำพินัยกรรม ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ แล้วไปโอนขายที่ดินโฉนดที่ 1900 แก่นายช่วงเอง ดังที่ศาลฎีกาได้ชี้ขาดไว้ในคดีเรื่องก่อนนางช่วงจึงเป็นผู้ฉ้อฉลให้เจ้ามรดกเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมซึ่งเจ้ามรดกได้เจตนาทำไว้ตาม มาตรา 1606(4) ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายวันผู้ตาย ดังนั้น นายช่วงจึงฟ้องขอรับมรดกของนายวันผู้ตายไม่ได้ ประเด็นข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยและพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะประเด็นข้อ 2

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาต่อมาเฉพาะประเด็นข้อ 2

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(4)หมายความถึงบุคคลที่ฉ้อฉลให้เจ้ามรดกทำหรือเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมโดยตรงเท่านั้น หาใช่เรื่องฉ้อฉลอย่างอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพินัยกรรมดังเช่นคดีนี้ไม่ ศาลจะยกเอา มาตรา 1606(4) ขึ้นมากำจัดสิทธิของนางช่วง มิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร และยกฟ้องของโจทก์เสียนั้นยังไม่ได้ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาในประเด็นข้ออื่นต่อไปแล้วพิพากษาใหม่

ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาตามประเด็นข้อ 3 ต่อไป แล้ววินิจฉัยว่านางช่วงไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 คือ นางช่วงไม่ใช้สิทธิของตนโดยสุจริต ยังไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกตามเงื่อนไขในพินัยกรรม จึงพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเงิน 2,000 บาท อันเป็นค่าทำศพนายวันตามเงื่อนไขในพินัยกรรมข้อ 4 นั้น มิได้มีข้อกำหนดว่าจะต้องนำเงินไปชำระให้เมื่อใด จะต้องจัดการทำศพเมื่อใด และใครจะต้องเป็นผู้จัดการทำศพ ดังนั้น เมื่อนางช่วงได้มอบเงิน 2,000 บาท เป็นค่าทำศพนายวัน ต่อกรรมการวัดบางพลีใหญ่กลางไว้แล้ว แม้จะล่วงเวลาเกินกว่า 3 ปี นับแต่นายวันตาย แต่ก็เป็นเวลาก่อนทำศพนายวันถึง 1 ปีเศษ ถือได้ว่านางช่วงได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในพินัยกรรมนั้นครบถ้วนแล้ว ชอบที่จะได้รับทรัพย์มรดกส่วนของนายวันตามพินัยกรรมจึงพิพากษากลับ ให้ถอนชื่อนายวันออกจากโฉนดเลขที่ 1900 แล้วใส่ชื่อนางช่วงแทนร่วมกับนางบุญ จำเลยคนละส่วนเท่ากันต่อไป

ฝ่ายจำเลยฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์ของทนายจำเลย และตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายวัน กับนางบุญ จำเลยเป็นสามีภรรยากัน มีทรัพย์สมบัติ คือ ที่ดินโฉนดที่ 1900 รายพิพาทนี้แปลงเดียวซึ่งมีเรือนปลูกอยู่รวม 3 หลัง แต่มีบุตรด้วยกันหลายคน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2489 นายวัน นางบุญได้ทำพินัยกรรม 1 ฉบับ ยกเรือนให้นางสุด นางผาดและนางช่วงผู้เป็นบุตรคนละ 1 หลัง ส่วนที่ดินยกให้แก่นางช่วงคนเดียวโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ในพินัยกรรมข้อ 4 ว่า “ถ้านายวัน หรือนางบุญถึงแก่กรรมไปก่อนหรือหลังก็ตาม นางช่วงจะต้องออกเงินค่าทำศพให้แก่ผู้ถึงแก่กรรมคนละ 2,000 บาทถ้วนถ้านางช่วงไม่ออกเงินค่าทำศพตามจำนวนที่กล่าวแล้ว ก็ให้ที่ดินแปลงนี้ตกแก่ทายาทต่อไป”

เดือนพฤศจิกายน 2491 นางช่วงได้หลอกลวงให้นายวัน และนางบุญลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2491 นางช่วงได้นำหนังสือมอบอำนาจนั้นไปใช้เป็นเรื่องมอบอำนาจให้ขายที่ดินโฉนดที่ 1900 พร้อมทั้งเรือน 3 หลัง แก่นางช่วงเอาเป็นเงิน 4,000 บาท เจ้าพนักงานที่ดินได้แก้ทะเบียนโอนโฉนดให้นางช่วงไปเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2492 นายวันถึงแก่ความตายไปและต้นปี พ.ศ. 2493 นางช่วงเริ่มแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ทั้งแปลงโดยกล่าวอ้างว่า นายวัน นางบุญได้ขายให้เขาเป็นสิทธิเด็ดขาดมาแล้วนางบุญ จึงได้รู้เรื่องและดำเนินการฟ้องร้องนางช่วงเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2493 ผลที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่านางบุญและนายวันลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยถูกหลอก ให้ถอนชื่อนางช่วงออกจากโฉนดที่ 1900 คงให้ที่กลับคืนฐานะเดิม ปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 500/2495 และศาลได้อ่านคำพิพากษานี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2495

ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2495 นางช่วงได้นำพินัยกรรมไปขอรับมรดกส่วนของนายวันต่อเจ้าพนักงานที่ดิน นางบุญจำเลย และบุตรบางคนไปร้องคัดค้านไว้ว่า นางช่วงไม่สมควรได้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้นเจ้าพนักงานที่ดินจึงสั่งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ว่าพินัยกรรมนี้มีเงื่อนไขอยู่ และนางช่วงผู้ขอยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในพินัยกรรมนั้น จึงจะโอนมรดกเฉพาะส่วนให้นางช่วงผู้ขอไปฝ่ายเดียวยังไม่ได้ และจะโอนลงชื่อผู้ขอ และผู้คัดค้านรวมกันไป ถ้าผู้ใดเห็นว่าตนควรมีสิทธิแต่ผู้เดียว ก็ให้ไปฟ้องศาลภายใน 30 วัน

วันที่ 29 มกราคม 2496 นางช่วงได้นำเงิน 2,000 บาท ไปมอบไว้แก่กรรมการวัดบางพลีใหญ่กลาง อ้างว่าเป็นค่าทำศพของนายวันบิดาและได้ร้องขอให้พนักงานอัยการ ดำเนินคดีฟ้องนางบุญมารดาของตนเป็นคดีเรื่องนี้

ปัญหาในชั้นนี้คงเหลือเพียงประเด็นข้อ 3 ประเด็นเดียวว่านางช่วงได้ปฏิบัติการถูกต้องตามเงื่อนไขในพินัยกรรมข้อ 4 แล้วหรือไม่เท่านั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า นายวัน นางบุญมีบุตรประมาณ 8-9 คน ทรัพย์สมบัติมีอยู่เพียงเล็กน้อย จึงตัดความยุ่งยากทั้งมวลโดยทำพินัยกรรมแบ่งปันเสียให้เสร็จเด็ดขาดไป จะเห็นได้ว่า นางช่วงเป็นบุตรที่บิดามารดารักใคร่เอ็นดูมากกว่าคนอื่น ๆ จึงยกที่บ้านให้ทั้งแปลงโดยหวังจะฝากผีฝากไข้ไว้แก่บุตรคนนี้จึงได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในพินัยกรรมว่าถ้าบิดามารดาตายไป ให้นางช่วงออกเงินค่าทำศพให้บิดาหรือมารดาคนละ 2,000 บาท และโดยนัยที่ตรงกันข้ามถ้านางช่วงไม่ยอมออกเงินค่าทำศพดังกล่าว ก็ให้ที่ดินแปลงนี้ตกแก่ทายาทต่อไป เป็นอันว่าสิทธิตามพินัยกรรมนั้นสูญสิ้นไป

จริงอยู่ เงื่อนไขในพินัยกรรมนี้มิได้กำหนด ให้ชัดเจนว่าจะต้องวางเงินค่าทำศพเมื่อใด และวางไว้แก่ใคร ถ้าไม่มีพฤติการณ์อื่น ๆ ปรากฏขึ้นแล้ว ก็อาจยกเป็นข้อโต้เถียงได้ว่า เมื่อยังไม่ถึงคราวทำศพก็ยังไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปวางแก่ใคร แต่สำหรับคดีเรื่องนี้ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า นางช่วงรู้ดีว่าถ้าตนจะรับเอาที่ดินตามพินัยกรรมก็จะต้องเสียเงินค่าทำศพบิดามารดาคนละ 2,000 บาทรวมเป็นเงินถึง 4,000 บาทจึงดำเนินการจนได้หนังสือมอบอำนาจของบิดามารดามาด้วยการหลอกลวงและไปทำสัญญาโอนขายที่ดินแปลงนี้แก่ตนเองเป็นเงิน 4,000 บาท ตรงตามจำนวนที่ตนจะต้องเสียเป็นค่าทำศพของบิดามารดานั้น พอบิดาตายไปแล้วก็เริ่มแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งแปลงนั้นทันที เพื่อยันต่อมารดาของตนเองและพี่น้องทั้งหลายอื่นโดยอ้างสิทธิว่าได้ซื้อจากบิดามารดามาแล้วโดยเด็ดขาด หาใช่ได้รับมรดกของผู้ใดตามพินัยกรรมไม่พฤติการณ์เหล่านี้ปรากฏชัดจากคำพิพากษาฎีกาที่ 500/2495 จนกระทั่งศาลฎีกาพิพากษาให้ถอนชื่อนางช่วงออกจากโฉนดที่ดินแปลงพิพาทกลับคืนเป็นของนายวัน นางบุญไปตามเดิม เป็นการสมควรแล้วหรือ ที่นางช่วงบุตรคนที่รักของบิดามารดาจะกระทำเช่นนี้ เหตุผลประการนี้ส่อแสดงให้เห็นได้ถนัดว่านางช่วงไม่ต้องการที่จะเสียเงินค่าทำศพของบิดามารดาตามเงื่อนไขในพินัยกรรมของบิดามารดานั้นเลย เมื่อแผนการณ์อันนี้ไม่สำเร็จตามความมุ่งหมาย โดยศาลฎีกาพิพากษาไปแล้วดังกล่าวข้างต้น แทนที่นางช่วงจะรู้สำนึก ยังกลับไปขอรับมรดกของบิดาต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยอ้างสิทธิตามพินัยกรรมขึ้นมาใหม่จนนางบุญจำเลยและบุตรบางคนต้องไปร้องคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่ยอมทำให้ตามความประสงค์ของนางช่วง นางช่วงหมดหนทางดิ้นรนต่อไปได้อีกแล้ว จึงได้เอาเงิน 2,000 บาท ไปมอบไว้ที่กรรมการวัดบางพลีใหญ่กลาง ดังนั้น ศาลฎีกาเห็นว่านางช่วงไม่ได้มีเจตนาจะเสียเงินค่าทำศพของบิดามารดามาแล้วตั้งแต่ต้น หากสุดคิดที่จะบิดพริ้วได้ต่อไปอีกแล้ว จึงจำยอมเอาเงิน 2,000 บาท ไปวางไว้พอเป็นพิธี เพื่อถือเป็นเหตุฟ้องร้องคดีเรื่องนี้เท่านั้น หาใช่เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขในพินัยกรรมข้อ 4 ให้สมตามความมุ่งหมายของบิดามารดาไม่จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องตามพินัยกรรมเช่นนี้ได้

อาศัยเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวมา ศาลฎีกาจึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้ยกฟ้องของโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ 3 ศาล เป็นเงิน 400 บาท แก่จำเลย

Share