คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8350/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนฯ มาตรา 8 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืน ซึ่งมิใช่สำหรับอาวุธปืนที่ตนได้รับอนุญาตให้มีและใช้ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ให้ออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ป้องกันตัวหรือทรัพย์สินหรือในการกีฬาหรือยิงสัตว์ และวรรคสองบัญญัติว่า ใบอนุญาตนั้นให้ออกสำหรับอาวุธปืนแต่ละกระบอก แต่ไม่ได้บัญญัติว่าให้ออกใบอนุญาตโดยเฉพาะสำหรับให้มีเครื่องกระสุนปืนด้วย แสดงว่าเมื่อมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว การมีกระสุนปืนสำหรับอาวุธปืนนั้นไม่ต้องมีใบอนุญาตพิเศษ การที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเป็นการอนุญาตให้มีและใช้เครื่องกระสุนปืนไปในตัว ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้วการที่จำเลยมีกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนนั้น จึงไม่เป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพาอาวุธปืนพกขนาด .22 เครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืน เลขหมายทะเบียนที่ นว. 01/3900021 ซึ่งจำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่ พร้อมด้วยกระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 6 นัด ซึ่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวสามารถใช้ยิงได้ ติดตัวไปตามถนนสายเอเชียซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และไม่ใช่กรณีที่ต้องมีติดตัวไปเมื่อมีเหตุจำเลยเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย กับจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 55 นัด ซึ่งมีจำนวนเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวสามารถใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 5,851 เม็ด น้ำหนัก 564.236 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 86.747 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเจ้าพนักงานจับจำเลยได้และยึดอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน เมทแอมเฟตามีน และรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน พ-9958 นครสวรรค์ ที่จำเลยใช้เป็นยานพาหนะขนยาเสพติดให้โทษเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8, 8 ทวิ, 72, 72 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 371 ริบเมทแอมเฟตามีนและกระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 55 นัด ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง 102 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาอาวุธปืน (ที่ถูก เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท) ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกตลอดชีวิต ความผิดฐานพาอาวุธปืนและมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานพาอาวุธปืน 3 เดือน และฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 3 เดือน ส่วนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว แต่ก็นับว่ามีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 (ที่ถูก มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53) หนึ่งในสาม คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 10 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีน รถยนต์กระบะ และเครื่องกระสุนปืนจำนวน 55 นัด ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน แต่ไม่ริบรถยนต์กระบะของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้องนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืน ซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ให้ออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สินหรือในการกีฬาหรือยิงสัตว์ และวรรคสอง บัญญัติว่า ใบอนุญาตนั้นให้ออกสำหรับอาวุธปืนแต่ละกระบอก แต่ไม่ได้บัญญัติว่าให้ออกใบอนุญาตโดยเฉพาะสำหรับให้มีเครื่องกระสุนปืนด้วย แสดงว่าเมื่อมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว การมีกระสุนปืนสำหรับอาวุธปืนนั้น ไม่ต้องมีใบอนุญาตพิเศษ การที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเป็นการอนุญาตให้มีและใช้กระสุนปืนไปในตัว ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว การที่จำเลยมีกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนนั้น จึงไม่เป็นความผิดแม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิด และจำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่จำเลยฎีกาสรุปได้ว่า เมื่อจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมค้นพบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และเมทแอมเฟตามีนของกลางนั้น จำเลยก็ให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และในชั้นพิจารณา ซึ่งศาลล่างทั้งสองชอบที่จะลดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกึ่งหนึ่ง ทั้งเมทแอมเฟตามีนของกลางก็มีสารบริสุทธิ์เพียง 86.747 กรัม การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยถึงตลอดชีวิตและลดโทษให้จำเลยเพียงหนึ่งในสาม จึงเป็นการหนักเกินไปนั้น เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงและกำลังระบาดในหมู่เยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคตซึ่งจำเลยก็ทราบดี การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ ทั้งสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกานั้น จำนวนของเมทแอมเฟตามีนมีมากถึง 5,851 เม็ด ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณา แม้ในชั้นพิจารณาในเบื้องต้นจำเลยจะให้การปฏิเสธ แต่ในที่สุดจำเลยก็ให้การรับสารภาพ ย่อมถือได้ว่า การให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีของเจ้าพนักงานตำรวจและการพิจารณาของศาลอย่างมากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 สมควรลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดโทษให้จำเลยเพียงหนึ่งในสามนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางในคดีนี้ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัม ขึ้นไป กฎหมายที่แก้ไขใหม่มาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ไม่เป็นกรณีที่จะต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในส่วนที่เกี่ยวกับบทความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแก่จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี เมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้ว คงจำคุก 25 ปี 3 เดือน ให้ยกฟ้องข้อหามีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาต ไม่ริบเครื่องกระสุนปืนของกลางและให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share