คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 665/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องรับโอนรถยนต์ของกลางหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบแล้วผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ ดังนี้ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอคืนของกลางนั้นได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ และให้ริบรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80-7640 ขอนแก่นและรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3323เพชรบุรี ผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางทั้งสองคัน โดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด
โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่มีอำนาจร้องขอคืนของกลางเพราะมิใช่เจ้าของส่วนผู้ร้องที่ 2 มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด
ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องที่ 2
ผู้ร้องที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ที่ผู้ร้องที่ 1 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุกระทำผิดในคดีนี้ผู้ร้องที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้ว 22งวด คงเหลือค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระเพียง 2 งวด และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 หาได้บัญญัติว่า ผู้ที่จะขอให้ศาลสั่งคืนจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางในขณะที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นไม่ ผู้ร้องที่ 1 เพิ่งมาจดทะเบียนโอนชื่อเป็นเจ้าของเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 และมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด ขอให้สั่งคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องที่ 1 นำสืบฟังได้ว่าขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-7640 ขอนแก่น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวยังเป็นของบริษัทสยามนิสสันดีเซล เซลส์ จำกัด และผู้ร้องที่ 1 รับโอนรถยนนต์คันดังกล่าวหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบแล้วศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบต้องเป็นเจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินนั้น ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของอันแท้จริง และเพิ่งจะได้รับโอนรถยนต์มาหลังจากศาลพิพากษาให้ริบแล้ว ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์ที่ถูกริบ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฎีกาผู้ร้องที่ 1 ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share