แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 19 บัญญัติไว้แจ้งชัดว่าสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลย่อมสิ้นสุดลงเมื่อผู้นั้นมีลักษณะต้องห้าม อันรวมถึงการเป็นภิกษุด้วยซึ่งย่อมหมายถึงผู้ได้รับเลือกตั้งจนเข้าดำรงตำแหน่งหน้าที่สมาชิกสภาเทศบาลโดยสมบูรณ์แล้วและจะพ้นจากความเป็นสมาชิกแห่งสภาเทศบาลนั้นทันทีที่ได้อุปสมบทเข้าสู่สมณเพศอันได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นเพียงชั่วคราวแล้วลาสิกขาก็ตาม เพราะไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ลาอุปสมบทหรืออนุโลมให้ถือเสมือนเป็นการลากิจ และกฎหมายหาได้ห้ามการเป็นภิกษุเฉพาะในวันที่มีการเลือกตั้งเท่านั้นไม่ ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลแล้วได้อุปสมบทเป็นภิกษุ จำเลยจึงพ้นจากสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลตั้งแต่วันเป็นภิกษุโดยผลแห่งกฎหมายดังกล่าว
ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2490 มาตรา 19 ให้โอกาสคู่ความนำปัญหาที่ยังโต้เถียงกันอยู่ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดเป็นยุติเท่านั้น จำเลยขาดจากสมาชิกภาพโดยผลแห่งกฎหมายไปแล้ว และไม่มีกฎหมายรับรองให้กลับคืนสมาชิกภาพได้อีก กฎหมายบัญญัติเพียงไม่กระทบกระทั่งการที่สมาชิกนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ในสภาก่อนที่มีการชี้ขาดของศาลโดยหาได้รวมถึงสมาชิกภาพไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนต่อมาจำเลยได้อุปสมบทเป็นภิกษุ สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนของจำเลยย่อมสิ้นสุดลง ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติเทศบาลพ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๙ ว่าสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนของจำเลยสิ้นสุดลง ให้จำเลยพ้นจากสมาชิกภาพดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ในวันเลือกตั้งจำเลยมิได้เป็นภิกษุ จำเลยรับหน้าที่สมาชิกสภาเทศบาลแล้วจึงอุปสมบท และได้ลาสิกขาบทมาทำหน้าที่ตามเดิม กฎหมายกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าจะต้องไม่เป็นภิกษุเฉพาะวันเลือกตั้งเท่านั้น หากตีความว่าการอุปสมบทเพียงชั่วคราวเป็นเหตุให้ขาดจากสมาชิกภาพแล้ว เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนของจำเลยสิ้นสุดลง ให้จำเลยพ้นจากสมาชิกภาพแห่งสภาดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๓ ได้อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓ จำพรรษาอยู่ ๑ พรรษา ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๖ บัญญัติว่า
“มาตรา ๑๙ สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ
(๔) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
การวินิจฉัยชี้ขาดตาม (๔) ให้ศาลแขวงหรือในกรณีที่ไม่มีศาลแขวงให้ศาลจังหวัดวินิจฉัยตามวิธีพิจารณาสำหรับศาลนั้น ๆ แต่การชี้ขาดของศาลดังกล่าวย่อมไม่กระทบกระทั่งการที่สมาชิกนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ในสภาก่อนที่มีการชี้ขาด”
ส่วนลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งมีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๒๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งเทศบาล (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๒๓ มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า
“มาตรา ๒๑ ผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ
(๘) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๑๘(๑)(๒)(๓)หรือ (๕)
ฯลฯ
“มาตรา ๑๘ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ
(๓) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
ฯลฯ
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาลข้างต้นบัญญัติไว้แจ้งชัดอยู่แล้วว่า สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลย่อมสิ้นสุดลงเมื่อผู้นั้นมีลักษณะต้องห้าม อันรวมถึงการเป็นภิกษุด้วย ซึ่งย่อมหมายความถึงผู้ได้รับเลือกตั้งจนเข้าดำรงตำแหน่งหน้าที่สมาชิกสภาเทศบาลโดยสมบูรณ์แล้ว และจะพ้นจากความเป็นสมาชิกแห่งสภาเทศบาลนั้นทันทีที่ได้อุปสมบทเข้าสู่สมณเพศอันได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นเพียงชั่วคราวแล้วลาสิกขาก็ตาม เพราะไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ลาอุปสมบทหรืออนุโลมให้ถือเสมือนเป็นการลากิจ กรณีเรื่องนี้กฎหมายหาได้ห้ามการเป็นภิกษุเฉพาะในวันที่มีการเลือกตั้งไม่ จำเลยจึงพ้นจากสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนตั้งแต่วันเป็นภิกษุโดยผลแห่งกฎหมายดังกล่าว
พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๙ ให้โอกาสคู่ความได้นำปัญหาที่ยังโต้เถียงกันอยู่ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดเป็นยุติเท่านั้น จำเลยขาดจากสมาชิกภาพโดยผลแห่งกฎหมายไปแล้ว และไม่มีกฎหมายรับรองให้กลับคืนสมาชิกภาพได้อีก กฎหมายบัญญัติเพียงไม่กระทบกระทั่งการที่สมาชิกนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ในสภาก่อนที่มีการชี้ขาดของศาล โดยหาได้หมายรวมถึงสมาชิกภาพไม่
พิพากษายืน