แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการปฏิบัติผิดสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จำเลยทั้งสองให้การว่า การที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า และรูปดาวประดิษฐ์คือเครื่องหมายการค้า เพื่อค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ดังกล่าวโดยไม่ได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 68 วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะ คดีนี้จึงเป็นที่ชัดเจนว่ามีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวว่า สัญญาให้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 68 วรรคสอง หรือไม่ คดีนี้ย่อมเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 7 (3)
ตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โจทก์เพียงตกลงให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ในการเข้าดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์ภายใต้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ปิโตเลียมที่จำเลยที่ 1 ต้องซื้อจากโจทก์มาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นสินค้าของโจทก์เอง แม้จะมีการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยโจทก์เองแล้วโจทก์ขายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าต่อไปเท่านั้น มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จัดหาผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาเองแล้วจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์อนุญาตอันจะถือเป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์กับสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของจำเลยที่ 1 สัญญาให้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นแบบนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 ดังนั้น แม้หนังสือสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจะไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน สัญญาดังกล่าวก็หาตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 ไม่
เดิมจำเลยทั้งสองได้เคยยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในเรื่องนี้ไว้ แต่ต่อมาได้ถอนคำร้องนั้นไป ทั้งคดีนี้ก็ชัดเจนแล้วว่ามีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสองไปจนเสร็จสิ้นและได้มีคำพิพากษาแล้ว ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาล ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะต้องเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่เสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยจึงชอบด้วยมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองออกไปจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและส่งมอบอุปกรณ์คืนโจทก์และยุติการใช้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 68,520.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และชำระค่าเสียหายจำนวน 1,250,000 บาท และจำนวนวันละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงคืนโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการถอดผ้าคลุมป้ายสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ทั้งหมดที่ติดตั้งในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและทำให้คืนกลับสู่สภาพที่ดีและใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์คืนเงินที่จำเลยที่ 1 วางประกันจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินที่จำเลยที่ 1 สูญเสียไปในการลงทุนจำนวน 6,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง
ระหว่างพิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองทิ้งฟ้องแย้ง จึงไม่รับฟ้องแย้งไว้พิจารณา (ที่ถูก ให้จำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจากสารบบความ)
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง “CALTEX” และส่งมอบสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 59/51 หมู่ที่ 7 ถนนพุทธบูชา แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ค่าสิทธิและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเงินจำนวน 68,520.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายจำนวนเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2545 จนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการปฏิบัติผิดสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง “CALTEX” จำเลยทั้งสองให้การว่า การที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “CALTEX” และรูปดาวประดิษฐ์คือเครื่องหมายการค้า เพื่อค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง “CALTEX” ดังกล่าวโดยไม่ได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 68 วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะ คดีนี้จึงเป็นที่ชัดเจนว่ามีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวว่า สัญญาให้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง “CALTEX” เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 68 วรรคสอง หรือไม่ คดีนี้ย่อมเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 7 (3) อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ตามสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง “CALTEX” โจทก์เพียงตกลงให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ในการเข้าดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์ภายใต้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “CALTEX” ของโจทก์เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่ 1 ต้องซื้อจากโจทก์มาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นสินค้าของโจทก์เอง แม้จะมีการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “CALTEX” ก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยโจทก์เองแล้วโจทก์ขายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “CALTEX” ให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าต่อไปเท่านั้น มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จัดหาผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาเองแล้วจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าคำว่า “CALTEX” ของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์อนุญาต อันจะถือเป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “CALTEX” ของโจทก์กับสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของจำเลยที่ 1 สัญญาให้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จึงมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นแบบนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152 ดังนั้น แม้หนังสือสัญญาให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงจะไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน สัญญาดังกล่าวก็หาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152 ไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าสัญญานี้ไม่ตกเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เดิมจำเลยทั้งสองได้เคยยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในเรื่องนี้ไว้ แต่ต่อมาได้ถอนคำร้องนั้นไป ทั้งคดีนี้ก็ชัดเจนแล้วว่ามีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสองไปจนเสร็จสิ้นและได้มีคำพิพากษาแล้ว ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะต้องเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่เสนอปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยจึงชอบด้วยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ