คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม้ประดู่แปรรูปของกลางตัดมาจากต้นประดู่ในที่ดินของจำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะมีไม้ประดู่แปรรูปซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวไว้ในครอบครองก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 84, 91 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48, 73 วรรคหนึ่ง, 74, 74 จัตวา ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูปปริมาตรเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบไม้ประดู่ของกลาง ของกลางคืนเจ้าของและให้จ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของเงินค่าปรับแก่ผู้นำจับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งกำลังร่วมกันแปรรูปไม้สนและไม้กระถินเทพาซึ่งไม่ใช่ไม้ประดู่ตามฟ้อง และภายหลังได้มีการคืนไม้อื่นให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของไม้ไปแล้ว และมิใช่ไม้หวงห้าม จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่ผู้กระทำความผิดฐานแปรรูปไม้ประดู่ตามฟ้อง ซึ่งคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่พิพากษายกฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า นายนิพร เจ้าพนักงานป่าไม้ระดับ 5 เบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณเที่ยงวันได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปตรวจสอบไม้แปรรูปของกลาง เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบเห็นไม้ท่อนและไม้แปรรูปของกลางอยู่บริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นไม้สนและไม้กระถินเทพา ส่วนไม้ประดู่แปรรูปมีการเก็บไว้ที่ใต้ถุนที่อาคารสถานีอนามัยกิ่งอำเภอแคนดง และเมื่อสังเกตสีของเนื้อไม้ประดู่เชื่อว่าทำการแปรรูปมาแล้วไม่เกิน 1 ปี นับจำนวนไม้ได้จำนวน 121 แผ่น ปริมาตร 0.25 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังพบไม้จิกท่อนหรือไม้เต็งซึ่งยังไม่มีการแปรรูป ขณะนั้นมีจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้นำสำเนาโฉนดที่ดินมาให้พยานดูและแจ้งว่าไม้ของกลางตัดมาจากที่ดินที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมามีจำเลยที่ 3 มารับว่าเป็นเจ้าของไม้ของกลางและรับว่าเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำการแปรรูปไม้ของกลาง แต่พยานเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งห้าถามค้านว่าไม้กระถินเทพาไม่ได้เป็นไม้หวงห้ามตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดไม้หวงห้าม ดังนั้น การแปรรูปไม้กระถินเทพาจึงไม่จำต้องขออนุญาต ต่อมาเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2548 นายสุชาติ ผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์ไม้ของศาลเบิกความว่า ได้รับหนังสือจากสำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ให้ทำการตรวจพิสูจน์ไม้ของกลาง และเมื่อไปถึงสถานีอนามัยบ้านโคกสว่าง กิ่งอำเภอแคนดง พบไม้เต็งของกลางจำนวน 6 ท่อน ปริมาตร 2.59 ลูกบาศก์เมตร โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้นำตรวจว่าไม้ของกลางดังกล่าวเปรียบเทียบกับตอไม้ซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 4 ที่อ้างว่าได้ตัดไม้เต็งมาจากที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตั้งอยู่ที่ตำบลร่อนทอง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ พบตอไม้ 2 ตอ ซึ่งเป็นตอไม้เต็ง ตอหนึ่งสามารถต่อเข้ากับท่อนไม้ของกลางซึ่งเป็นท่อนโคนได้ ส่วนอีกตอหนึ่งถูกไฟไหม้จึงไม่สามารถต่อกับท่อนโคนไม้ของกลางได้ โดยนายสุชาติมีความเห็นว่าไม้เต็งท่อนของกลางจำนวน 6 ท่อน ปริมาตร 2.59 ลูกบาศก์เมตร เป็นไม้ที่ตัดออกจากตอไม้ในที่ดินตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างจริง และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแคนดงให้ไปตรวจไม้ของกลาง ไม้ประดู่แปรรูปจำนวน 121 แผ่น ซึ่งผู้ต้องหากล่าวอ้างว่าเป็นไม้ที่ตัดมาจากที่ดินมีโฉนด เมื่อพยานตรวจตอไม้ในที่ดินที่มีโฉนดดังกล่าวโดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำชี้ตอไม้ประดู่ที่เบิกความถึง ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่ามีการขุดตอแล้วลากขึ้นมาจากที่เดิม ตอไม้ดังกล่าวเป็นตอไม้ประดู่ซึ่งเป็นตอเก่ามีร่องรอยผุพังเสียหายจนไม่สามารถจะตรวจวิธีต่อโคนได้ ประกอบกับไม้ของกลางมีการแปรรูปเป็นแผ่นแล้ว แต่จากการตรวจสภาพทั่ว ๆ ไป ตอไม้ประดู่และไม้ประดู่ของกลางเป็นไม้ชนิดเดียวกัน จำนวนปริมาณของไม้ประดู่แปรรูปสอดคล้องกับตอไม้ที่ตรวจพบ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม้ประดู่ที่แปรรูปเป็นไม้ที่ตัดจากตอไม้ประดู่ในที่ดินที่นำชี้หรือไม่ ปรากฏตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์ และพยานเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งห้าถามค้านว่า นอกจากไม้ประดู่แล้วยังมีไม้สนซึ่งเป็นไม้สนปฏิพัทธ์ซึ่งไม่ใช่ไม้หวงห้าม และพันตำรวจโทวิญญู พนักงานสอบสวนเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งห้าถามค้านว่า ไม้ของกลางประเภทไม้สน ไม้กระถินเทพาและไม้จิกท่อนหรือไม้เต็ง พนักงานอัยการมีหนังสือแจ้งให้คืนของกลางแก่จำเลยแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับไม้ของกลางที่ได้รับคืนไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 นำสืบว่าไม้ประดู่ของกลางจำเลยที่ 3 ตัดมาจากที่นาของนายกมล สามีของจำเลยที่ 3 โดยที่ดินดังกล่าวมีโฉนดที่ดิน โดยตัดและเลื่อยแปรรูปมาตั้งแต่ปี 2540 โดยใช้แรงงานคนใช้เลื่อยมือทำการแปรรูปโดยมีตอไม้ และเมื่อตัดแล้วจำเลยที่ 3 ไม่มีที่เก็บรักษาไม้เนื่องจากที่บ้านคับแคบอยู่ในที่ชุมชนจึงนำไปเก็บไว้ที่ใต้ถุนบ้านพักสถานีอนามัยบ้านโคกสว่าง โดยจำเลยที่ 4 บุตรชาย จำเลยที่ 5 บุตรสะใภ้พักอยู่ที่สถานีอนามัยดังกล่าว ส่วนไม้จิกหรือไม้เต็งท่อนมีลักษณะเป็นโพรงไม่สามารถเลื่อยได้ และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยังมีนายช่วย ผู้ใหญ่บ้านดอนมนต์ หมู่ที่ 1 อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ มาเบิกความเป็นพยานว่า หมู่บ้านดังกล่าวเป็นพื้นที่ซึ่งที่ดินของจำเลยที่ 3 อยู่ในเขตพื้นที่และเคยมีต้นประดู่อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 3 ด้วย และเคยเห็นจำเลยที่ 3 กับสามีตัดฟันต้นประดู่ในที่ดินดังกล่าวเมื่อประมาณปี 2540 และยังเป็นผู้พานายสุชาติผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์ไม้ไปตรวจตอไม้ในที่ดินของจำเลยที่ 3 ยืนยันว่าไม้ประดู่ของกลางตัดมาจากในที่ดินของจำเลยที่ 3 จริง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 นำสืบมาจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าไม้ประดู่แปรรูปของกลางเป็นไม้ที่ตัดมาจากต้นประดู่ซึ่งขึ้นอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะไม่มีหลักฐานว่าได้ขออนุญาตจากเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้มาทำการตรวจสอบและรับรองว่าเป็นไม้ซึ่งเกิดขึ้นและอยู่ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ตามที่นายนิพร เจ้าพนักงานป่าไม้เบิกความก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าไม้ประดู่แปรรูปของกลางตัดมาจากไม้ประดู่ในที่ดินของจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 แม้มีไม้ประดู่แปรรูปซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวไว้ในความครอบครองจึงไม่เป็นความผิดตามระราชบัญญัติป่าไม้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 คืนไม้ประดู่ของกลางแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share