แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำความผิดและมีอำนาจสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำตัวผู้ถูกจับกุมส่งต่อพนักงานสอบสวน หรือสั่งปล่อยตัวผู้ถูกจับหากเห็นว่าเป็นการจับผิดตัวหรือผู้ถูกจับกุมไม่ได้กระทำความผิดหรือการกระทำยังไม่เป็นความผิด จำเลยทราบดีว่าคนต่างด้าวที่ถูกจับกุมเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่มีอำนาจสั่งปล่อยได้ แต่กลับสั่งการในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปล่อยตัวผู้กระทำความผิดและรถของกลางโดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม ป.อ. มาตรา 157
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 3 ปี จำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 135 ที่จังหวัดกาญจนบุรี มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมบังคับบัญชาเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ป้องกันปราบปรามและสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญา จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชาของร้อยตำรวจเอกอติโรจน์ (ยศขณะเกิดเหตุ) ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ร้อยตำรวจเอกอติโรจน์และผู้ใต้บังคับบัญชาร่วมจับกุมคนต่างด้าวสัญชาติพม่า 29 คน ที่หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายและยึดรถกระบะหมายเลขทะเบียน บธ 5293 กาญจนบุรี เป็นของกลาง หลังจากนั้นจำเลยโทรศัพท์สั่งร้อยตำรวจเอกอติโรจน์ให้ปล่อยคนต่างด้าวไป 19 คน กับให้ปล่อยรถกระบะของกลาง แต่ร้อยตำรวจเอกอติโรจน์ไม่ยินยอม จำเลยจึงให้ร้อยตำรวจเอกอติโรจน์และผู้ร่วมจับกุมไปหาจำเลยที่บ้านและบอกให้จับผู้ต้องหาได้เพียง 10 คน ที่เหลือให้ปล่อยไปพร้อมรถกระบะของกลาง แต่ผู้ร่วมจับกุมทุกคนไม่ยินยอม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทธงชัยและพันตำรวจตรีอติโรจน์ (ยศขณะเบิกความ) เบิกความว่า เมื่อพยานทั้งสองกับพวกร่วมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายได้พร้อมยึดรถที่ใช้บรรทุกคนต่างด้าวเป็นของกลาง ภรรยาจำเลยโทรศัพท์บอกพันตำรวจตรีอติโรจน์ว่า รับเคลียร์หมดแล้ว ให้ปล่อยให้หมด พันตำรวจตรีอติโรจน์ตอบว่าไม่ได้หรอกพี่ จับแล้วปล่อยไม่ได้ หลังจากนั้นจำเลยโทรศัพท์คุยกับพันตำรวจโทธงชัย รองผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 135 ในขณะนั้นและพันตำรวจตรีอติโรจน์ให้จับผู้กระทำความผิดเพียง 10 คน ที่เหลือให้ปล่อยไปพร้อมรถของกลาง โดยจำเลยพูดกับพันตำรวจโทธงชัยว่า กูขอได้ไหม ขอให้ปล่อย ปล่อยคนต่างด้าว พันตำรวจโทธงชัยตอบว่า กูปล่อยไม่ได้หรอก เห็นว่า การที่จำเลยและพันตำรวจโทธงชัยพูดกันโดยใช้สรรพนามแทนตัวเองว่ากู ก็น่าจะเป็นเพราะมีความคุ้นเคยกันหรือเป็นเพื่อนกัน แต่นอกจากจำเลยจะพูดกับพันตำรวจโทธงชัยแล้ว จำเลยยังพูดกับพันตำรวจตรีอติโรจน์ให้ปล่อยผู้กระทำความผิดไป 19 คน พร้อมรถกระบะของกลาง เมื่อได้รับการปฏิเสธจำเลยก็ยังโทรศัพท์ให้พันตำรวจตรีอติโรจน์และผู้ใต้บังคับบัญชาที่ร่วมจับกุมไปหาที่บ้านและพูดเช่นเดิมอีก การพูดกับผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนตลอดจนเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาไปพบที่บ้านและบอกให้ปล่อยผู้กระทำความผิดพร้อมรถกระบะของกลาง จึงเห็นได้ว่าเป็นการสั่งการในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้ร่วมจับกุม จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำความผิดและมีอำนาจสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำตัวผู้ถูกจับกุมส่งต่อพนักงานสอบสวน หรือสั่งปล่อยผู้ถูกจับกุมหากเห็นว่าเป็นการจับผิดตัว หรือผู้ถูกจับกุมไม่ได้กระทำความผิด หรือการกระทำยังไม่เป็นความผิด จำเลยทราบดีว่าคนต่างด้าวที่ถูกจับกุมมาเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่มีอำนาจสั่งปล่อยได้ แต่กลับสั่งการในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปล่อยตัวผู้กระทำความผิดและรถของกลางโดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น