แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่า ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถยนต์บรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายแล้ว แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของลูกจ้างตนตามฟ้อง กรณีหาเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี เพื่อใช้ค่าทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน อันเป็นการฟ้องตามสัญญาประกันภัย จำเลยร่วมจึงยกอายุความละเมิดมาใช้ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งอันเป็นศาลที่โจทก์ยื่นฟ้องไว้ เพราะเพิ่งทราบจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นผู้รับประกันภัยรายนี้และขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยที่แท้จริงการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ตัดอำนาจศาลแพ่งในอันที่จะพิจารณา และชี้ขาดตัดสินคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา173(2)
*และมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแพ่งเช่นเดียวกันเข้ามาในคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๒ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน นม.๑๘๘๙๑ ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ โดยประมาทล้ำเส้นทางเข้ามาชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน อบ.๐๘๙๐๘ ซึ่งนายวิสัยขับสวนทางมา เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน อบ.๐๘๙๐๘ พลิกคว่ำได้รับความเสียหายโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน อบ.๐๘๙๐๘ ไว้ต้องชดใช้ค่าลากจูง และค่าซ่อมแซมไปรวม ๗๗,๗๑๕ บาท จึงฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิด จำเลยที่ ๒ ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน นม.๑๘๘๙๑ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๑ ไม่เคยเอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน นม.๑๘๘๙๑ ไว้กับจำเลยที่ ๓ หากแต่ได้เอาประกันภัยไว้กับบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓โดยไม่มีมูลโดยประสงค์จะใช้ภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๓ เพื่อฟ้องคดีนี้ที่ศาลแพ่ง จำเลยที่ ๑ ขอตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลแพ่ง เหตุที่เกิดชนกันเกิดจากความประมาทของนายวิสัยคนขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน อบ.๐๘๙๐๘ ฝ่ายเดียว โจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทนำสินประกันภัยจำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน นม.๑๘๘๙๑ จากจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดในการละเมิดของจำเลยที่ ๒ จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดด้วย อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทของนายวิสัยคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน อบ.๐๘๙๐๘ ฝ่ายเดียว หาใช่เกิดเพราะนายสมชายคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน นม.๑๘๘๙๑ ของจำเลยที่ ๑ ไม่ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ศาลอุทธรณ์จะยกเอาการกระทำของนายสมชายมาวินิจฉัยให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในการละเมิดของนายสมชายหาได้ไม่ เป็นการนอกประเด็นแห่งคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน นม.๑๘๘๙๑ ในทางการที่จ้างชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน อบ.๐๘๙๐๘ เสียหาย หากข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่า นายสมชายซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ โดยประมาท ชนรถที่โจทก์รับประกันไว้เสียหายจริง จำเลยที่ ๑ ย่อมต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของลูกจ้างของตนตามคำฟ้อง แม้จะฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ แต่ก็ฟังได้ว่านายสมชายผู้ทำละเมิดนั้นเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ อยู่นั่นเองการที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของลูกจ้างของตนนั้นเป็นข้อหาที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว จึงหาเป็นการนอกประเด็นไม่
ที่จำเลยร่วมฎีกาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องนั้น ปรากฏว่ามูลละเมิดครั้งนี้เกิดเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๙ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๒๑ เพื่อให้จำเลยร่วมใช้ค่าทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๗ ดังนั้นเกี่ยวกับจำเลยร่วมจะยกอายุความละเมิดมาใช้ไม่ได้เพราะเป็นการฟ้องตามสัญญาประกันภัย จึงต้องใช้อายุความในเรื่องประกันภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๒ ซึ่งปรากฏว่าขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความยังไม่พ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ ยังศาลแพ่งนั้น ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยร่วมหลายคนด้วยกัน และขณะยื่นฟ้องมีจำเลยร่วมคนหนึ่งคือ จำเลยที่ ๓ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแพ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ยังศาลแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕ วรรคสอง แม้ต่อมาจะมีเหตุเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ เพราะเพิ่งทราบจากคำให้การของจำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๓ มิใช่ผู้รับประกันภัยรายนี้ แต่เป็นบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด ที่รับประกันภัยไว้ โจทก์จึงได้ถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ และขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ หาตัดอำนาจศาลแพ่งที่รับฟ้องคดีนี้ไว้ในอันที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนี้ไม่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ (๒) โดยเฉพาะจำเลยร่วมเองก็มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งที่จะรับฟ้องไว้พิจารณาได้อยู่แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน