แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การหมั้นเป็นสัญญาซึ่งฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อชายกับหญิงจะทำการสมรสกัน
สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส
โจทก์และ ง. เป็นฝ่ายชายตกลงทำสัญญาหมั้นกับจำเลยทั้งสามฝ่ายหญิงและมอบสินสอดให้ เพื่อให้ ง. กับจำเลยที่ 3 ทำการสมรสกัน เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามฐานผิดสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดคืนได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439 บัญญัติถึงผู้มีสิทธิเรียกร้องให้รับผิดชดใช้ค่าทดแทนและคืนของหมั้นในกรณีผิดสัญญาหมั้นไม่ว่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณีมิได้บัญญัติแต่เฉพาะชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้นที่มีสิทธิเรียกร้องได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดานายเงิน เมื่อประมาณต้นเดือนสี่ พ.ศ. 2523โจทก์ได้ไปสู่ขอและตกลงทำสัญญาหมั้นไว้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 บิดามารดาจำเลยที่ 3เพื่อให้นายเงินได้ทำการสมรสและอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 3 ถูกต้องตามกฎหมายต่อไปซึ่งจำเลยทั้งสามก็ตกลงยินยอมด้วย และเรียกร้องค่าสินสอดจากโจทก์เป็นเงิน 6,000 บาท และตกลงจะจัดพิธีแต่งงานกันตามประเพณีในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนสี่ ในวันตกลงทำสัญญาหมั้นโจทก์ได้มอบของหมั้นแก่จำเลยเป็นเงิน 1,000 บาท เมื่อถึงกำหนดแต่งงานก็ได้จัดสุราอาหารเลี้ยงแขกเป็นเงิน 3,000 บาท เหมารถยนต์จัดขันหมากไปทำพิธีแต่งงานเป็นเงิน 300 บาท และรับเงินสินสอดไปแล้ว ฝ่ายจำเลยกลับผิดสัญญาโดยจำเลยที่ 3 ไม่ยอมร่วมหลับนอนอยู่กินกับนายเงินและไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส จำเลยที่ 3 ได้พยายามหลบเลี่ยงและโดยรู้เห็นเป็นใจของจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้หลบหนีไปอยู่กับญาติที่อื่น ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายและเสียหายต้องเสียของหมั้น สินสอด ค่าเลี้ยงสุราอาหารแขก ค่าจ้างเหมารถยนต์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,300 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายและคืนเงินหมั้นกับเงินสินสอดให้โจทก์รวม 10,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า นายเงินกับจำเลยที่ 3 ได้แต่งงานตามข้อตกลงและอยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านจำเลยที่ 1 กับที่ 2 แล้ว จำเลยเคยแนะนำให้นายเงินไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 3 ตามกฎหมาย แต่นายเงินไม่ยอมไปจดทะเบียนเองนายเงินได้ตบตีจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงหลบหนีไปอยู่กับญาติ และนายเงินได้หนีจากบ้านจำเลยไปอยู่กับโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 3 กลับมาอยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และยินดีไปจดทะเบียนกับนายเงินเสมอ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินสอดคืน ค่าเสียหายไม่เกิน300 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นสืบโจทก์เพียงจบคำซักถามของทนายโจทก์แล้ว เห็นว่าคดีวินิจฉัยได้จึงงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสาม แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้องจากจำเลยทั้งสามได้หรือไม่เพียงใด จะต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสามแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การหมั้นเป็นสัญญาซึ่งฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อชายกับหญิงจะทำการสมรสกัน และสินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส สำหรับคดีนี้โจทก์และนายเงินเป็นฝ่ายชายตกลงทำสัญญาหมั้นกับจำเลยทั้งสามฝ่ายหญิงและมอบสินสอดให้เพื่อให้นายเงินกับจำเลยที่ 3 ทำการสมรสกัน และโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้นและไม่ยอมจดทะเบียนสมรส ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งฐานผิดสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดคืนได้และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439 ได้บัญญัติถึงผู้มีสิทธิเรียกร้องให้รับผิดชดใช้ค่าทดแทนและคืนของหมั้นในกรณีผิดสัญญาหมั้น ไม่ว่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณีมิได้บัญญัติแต่เฉพาะชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้นที่มีสิทธิเรียกร้องได้ ฉะนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามได้
พิพากษายืน