คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีกู้ยืมเงินโจทก์มาใช้ส่วนตัว หนี้ดังกล่าวย่อมไม่ใช่หนี้ร่วม จำเลยที่ 2 ภริยาจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน โดยจดทะเบียนสมรสและจำเลยทั้งสองร่วมกันค้าขายรถจักรยานและรถจักรยานยนต์พร้อมทั้งอะไหล่ จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพื่อนำไปจัดกิจการจำเป็นในครอบครัวด้วยการใช้อุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ซื้อสินค้าเข้าร้านและชำระค่าซื้อที่ดินพร้อมบ้าน 1 คูหาซึ่งโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของ จำเลยที่ 2 ยินยอมและให้สัตยาบันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาแล้วโจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสกันและมีบุตรด้วยกัน 1 คน จำเลยที่ 1 ชอบเล่นการพนัน ไม่เคยรับรู้และยุ่งเกี่ยวในกิจการร้านค้าในที่สุดจึงหย่าขาดจากกัน โดยจำเลยที่ 2จ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่เคยยินยอมหรือให้สัตยาบันในการกู้ยืมเงินดังกล่าว อีกทั้งจำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินใครมาเพื่อจัดกิจการอันจำเป็นในครอบครัว เลี้ยงดูบุตรหรือนำมาใช้จ่ายในกิจการของร้าน สัญญากู้ยืมตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ที่ดินพร้อมบ้าน 1 คูหาเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้นแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้อง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ฟ้องโจทก์อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์นำมาใช้จ่ายในครอบครัว ซื้อสินค้าเข้าร้าน และนำไปชำระค่าที่ดิน โฉนดเลขที่9480 พร้อมบ้านแล้วโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของ และผลตามข้ออ้างดังกล่าวทำให้หนี้เงินกู้ตามฟ้องเป็นหนี้ร่วม จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น ในเรื่องนี้โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความเพียงปากเดียวว่าระหว่างที่จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 170,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.4 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 23/2533 ของศาลชั้นต้น หรือสำเนาภาพถ่ายสัญญากู้ยืมท้ายฟ้อง โดยจำเลยที่ 1อ้างกับโจทก์ว่ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อของเข้าร้าน และซื้อบ้านพร้อมที่ดินบริเวณหน้าวิทยาลัยเทคนิคอำเภอเมืองปัตตานีตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า โจทก์เบิกความอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานมาสนับสนุนคำพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไปทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินที่กู้ยืมจากโจทก์มาใช้จ่ายในครอบครัว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูบุตร ดำเนินกิจการค้าขายและจัดการใช้จ่ายภายในครอบครัวแต่ผู้เดียว เงินที่ซื้อสินค้าและที่ดินโฉนดเลขที่ 9480 พร้อมบ้านเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 ทำมาหาได้และบางส่วนกู้จากธนาคาร จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเนื่องจากจำเลยที่ 1 ติดการพนัน ใช้เงินในการเล่นการพนันและยังนำรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปจำนำเอาเงินไปเล่นการพนันจำเลยที่ 2 ต้องไปไถ่รถจักรยานยนต์คืน กิจการค้าของจำเลยที่ 2ค้าขายดี ฐานะการเงินก็ดีนายคลี่ บุญสิน และนายประสิทธิ์จงไกรจักร พยานจำเลยที่ 2 ก็เบิกความทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลร้านเด่นทวีโชค กิจการค้าขายดีมากจำเลยที่ 2 มีฐานะการเงินดี ส่วนจำเลยที่ 1 ชอบเล่นแต่การพนันคนในตำบลนาประดู่รู้ดีว่าจำเลยที่ 1 เล่นการพนันตลอดมาพยานจำเลยที่ 2 ทั้ง 2 ปากนี้เป็นบุคคลภายนอกไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด น่าเชื่อว่าพยานได้เบิกความไปตามความจริง และนอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมีพยานหลักฐานในการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 9480พร้อมบ้านราคา 780,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย ล.3 มาสนับสนุนเชื่อว่าได้ซื้อด้วยเงินของจำเลยที่ 2ที่ทำมาหาได้จริง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนักการพนันเล่นการพนันเป็นอาจิณทำให้ขาดเงิน การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 170,000 บาท ก็เพื่อเอามาใช้เล่นการพนันไม่ได้นำมาใช้จ่ายในครอบครัว ซื้อสินค้าเข้าร้านหรือนำไปชำระค่าที่ดินพร้อมบ้านดังที่โจทก์อ้างเมื่อจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์มาใช้ส่วนตัว หนี้ดังกล่าวย่อมไม่ใช่หนี้ร่วม จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share