คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16001/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มูลคดีเดียวกันนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เคยฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ มีโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยคดีอาญาคดีถึงที่สุด ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วม ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถอนเงินที่วางประกันไว้ไปใช้ประโยชน์อื่น นอกจากข้อตกลงอันเป็นความผิดอาญา จำเลยที่ 1 จึงแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแก่พนักงานสอบสวน อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
ดังนั้น คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนจึงไม่มีความผิดและมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ไม่มีความผิดตามไปด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 ธันวาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าขึ้นศาลใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีและกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าขึ้นศาลใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี และกำหนดค่าทนายความให้รวม 60,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน เมื่อปี 2534 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นกันซื้อที่ดินเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 39686 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร แล้วสร้างอาคารพาณิชย์ 6 คูหา ในที่ดินดังกล่าวเพื่อขายนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่งโดยได้แบ่งแยกที่ดินเป็น 4 แปลง แต่ขายได้คูหาเดียว ซึ่งได้แบ่งผลประโยชน์กันแล้ว ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงหุ้นส่วนที่ดินและอาคารตึกแถวแบ่งที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ที่เหลือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนคนละครึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 39686, 39687, 39688 และ 39689 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมอาคารพาณิชย์ (ตึกแถว) 4 คูหา เลขที่ 109/354, 109/355, 109/356 และ109/357 จำเลยที่ 1 และโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 39689 พร้อมตึกแถวเลขที่ 109/356 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 39686, 39687 และ 39688 พร้อมอาคารตึกแถวที่ตั้งอยู่ในแต่ละแปลง จำเลยที่ 1 ให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว โดยถือแทนจำเลยที่ 1 ไว้กึ่งหนึ่งเพื่อความสะดวกบางประการ ในการทำนิติกรรมขายที่ดินและตึกแถวทุกแปลง หากภายหลังไม่ว่าเวลาใดถูกทางราชการเก็บค่าธรรมเนียมการโอน ค่าอากรเพิ่มรวมทั้งโจทก์ถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอันเกิดจากการขายที่ดินทุกแปลง โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงเสียกันคนละครึ่งทุกครั้งไป เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ 1 จะนำเงิน 200,000 บาท ไปฝากธนาคารในนามโจทก์เพียงผู้เดียวในวันที่ 7 ตุลาคม 2535 เป็นเวลา 8 ปี หากครบกำหนดแล้วไม่มีการเรียกเก็บเงินใดๆ โจทก์จะคืนเงินแก่จำเลยที่ 1 และทั้งสองฝ่ายจะทำสัญญารับผิดชอบในเรื่องนี้กันใหม่ต่อไป ต่อมาโจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) สาขาบางพลัด โดยจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 200,000 บาท ไปฝากเปิดบัญชีดังกล่าวเพื่อเป็นหลักประกันตามข้อตกลง ต่อมาโจทก์ถอนเงินจากบัญชี 100,000 บาท และโจทก์ถอนเงินที่เหลือทั้งหมด 2544 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นายสมชายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางพลัด ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์กล่าวหาว่า โจทก์ถอนเงินเอาไปใช้เป็นการส่วนตัวโดยทุจริต
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมอบอำนาจให้นายสมชายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางพลัด ตามข้อความดังกล่าวข้างต้นอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า มูลคดีเดียวกันนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องจำเลยทั้งสอง คดีนี้กับพวกเป็นจำเลย เรื่อง ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 และ 174 ซึ่งโจทก์คดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวด้วย คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้เห็นว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น มีข้อความใดหรือส่วนใดเป็นเท็จและวินิจฉัยข้อเท็จจริงกล่าวโดยสรุปว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าว ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถอนเงินที่วางประกันไว้ไปใช้ประโยชน์อื่น นอกจากข้อตกลงอันเป็นความผิดทางอาญา จำเลยที่ 1 แจ้งเหตุการณ์ตามที่เกิดขึ้นจริงต่อเจ้าพนักงาน เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย การกระทำของโจทก์ร่วมจะเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ อย่างไร เป็นอำนาจโดยเฉพาะของพนักงานสอบสวนที่จะรวบรวมพยานหลักฐานและเสนอความเห็นไปยังพนักงานอัยการต่อไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมนั้น จึงไม่เป็นความผิด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2554 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นางสาววิไล (โจทก์คดีนี้) โจทก์ร่วม นางกาญจนา (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ที่ 1 นายสมชาย ที่ 2 นายวิชิต (จำเลยที่ 2 คดีนี้) ที่ 3 จำเลย คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าว เมื่อศาลในคดีอาญาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนและเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย จึงไม่มีความผิดและมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้นายสมชายไปแจ้งความร้องทุกข์ว่า ไม่มีความผิดตามไปด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามายังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share