แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ในกรณีหนึ่งเท่านั้นเมื่อการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวและการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยืดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1589/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลมเมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป จึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้
แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง จะบัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ แต่กรณีที่จำเลยใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง มิได้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ คำร้องของจำเลยจึงมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ดังกล่าว
กฎหมายมิได้กำหนดให้ดูความเปลี่ยนแปลงของฐานะของคู่กรณีแต่เฉพาะทรัพย์ที่มีขึ้นภายหลังการหย่า จึงต้องคำนึงถึงทรัพย์สินทุกชนิดที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีอยู่ขณะที่พิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลง เมื่อโจทก์ยังมีที่ดินเนื้อที่ 80 ตารางวา พร้อมบ้านสองชั้นมีราคาสูงกว่า 700,000 บาท ส่วนจำเลยมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเพียงอย่างเดียวจำนวนเดือนละ 15,380 บาท มีภริยาและบุตรอายุ 13 ปี ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาอีก 1 คน นอกจากนี้ยังเป็นหนี้สหกรณ์ 120,000 บาท โดยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เป็นของตนเอง หากจำเลยต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือน เป็นเงินเดือนละ 5,383 บาท จำเลยจะเหลือเงินที่ใช้จ่ายในครอบครัวเดือนละไม่ถึง 10,000 บาท และเหลือเวลารับราชการอีกเพียง 4 ปี ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบฐานะของโจทก์กับจำเลยแล้วเห็นได้ว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ จึงถึงเวลาสมควรที่จะสั่งให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์แล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลย โดยโจทก์จำเลยยินยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ จำนวน 35 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนจำเลยตลอดไปทุกเดือน
จำเลยยื่นคำร้องว่าเนื่องจากจำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2524 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าฐานะความเป็นอยู่ของโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยโจทก์มีที่ดินและบ้านเป็นของตนเอง มีกิจการค้าขาย กล่าวคือ มีเรือประมงประกอบอาชีพการประมง 2 ลำ ส่วนจำเลยมีฐานะยากจนลง ไม่มีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง มีเงินเดือนน้อย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยงดชำระเงินค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ข้อตกลงจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นข้อตกลงให้ชำระแก่โจทก์ตลอดไปจนกว่าโจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถึงแก่ความตาย จำเลยไม่สิทธิขอให้ศาลงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพเพราะการชำระค่าเลี้ยงชีพของจำเลยในคดีนี้มิใช่ชำระโดยศาลมีคำพิพากษา ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยอ้างมารดาโจทก์ยกให้และติดจำนองธนาคารอยู่ โจทก์ไม่มีรายได้พอชำระหนี้ธนาคาร ส่วนเรือประมง 2 ลำที่จำเลยอ้างนั้นเป็นของน้องโจทก์ซึ่งอยู่ต่างประเทศ แต่ใส่ชื่อโจทก์ไว้เพื่อความสะดวกในการดูแล และเรือทั้ง 2 ลำดังกล่าวถูกประเทศเวียดนามและประเทศมาเลเซียยึดไปแล้ว ส่วนที่ดินของโจทก์ที่จังหวัดปทุมธานีโจทก์มีอยู่ก่อนฟ้องหย่า จึงไม่ใช่มูลเหตุที่จำเลยจะอ้างได้ โจทก์มิได้มีฐานะดีขึ้นแต่กลับยากจนลงเพราะต้องอุปการะส่งบุตรเรียนต่อต่างประเทศ จำเลยมีฐานะที่ดีขึ้นตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้นเป็นเหตุให้มีเงินเดือนเพิ่ม มีบ้านและทรัพย์สินอื่น ๆ อีกไม่ได้ยากจนลงตามที่อ้าง ไม่มีสิทธิร้องขอให้งดจ่ายค่าเลี้ยงชีพ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526 มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมเป็นให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าข้อตกลงในการจ่ายค่าเลี้ยงชีพที่เกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยจะบังคับให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526 ได้หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าในคดีหย่าได้ในกรณีหนึ่งเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยึดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมใช้บังคับได้ และในบทบัญญัติ มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม ซึ่งเมื่ออนุโลมตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง แล้วจะได้ความว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอนลด เพิ่มหรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไปจึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ที่โจทก์ฎีกาว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง บัญญัติห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอม จำเลยจึงไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสองบัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ แต่คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง และมิได้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ คำร้องของจำเลยจึงมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีเหตุผลสมควรที่จะเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์หรือไม่ ตามข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2524ขณะนั้นโจทก์จำเลยมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อนางสาวธิติพร แสนคำ เกิดเมื่อวันที่ 18สิงหาคม 2514 ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.1 บุตรอยู่ในปกครองของโจทก์โจทก์มีที่ดินที่จังหวัดปทุมธานี 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ ไม่ได้ประกอบอาชีพใด ๆ และต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ส่วนจำเลยมีอาชีพรับราชการ จะเห็นได้ว่าการที่จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนจำเลยเป็นความเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าวและจำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์นับแต่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เป็นเวลา 14 ปี 6 เดือนปัจจุบันที่ดินของโจทก์ที่จังหวัดปทุมธานีเนื้อที่ 4 ไร่ ยังคงอยู่และย่อมมีราคาสูงกว่าเมื่อ14 ปีที่แล้วมา ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์มาก่อนหย่าขาดจากจำเลยจำเลยไม่อาจยกเป็นข้ออ้างว่าโจทก์มีฐานะดีเพราะที่ดินแปลงดังกล่าว เห็นว่า กฎหมายมิได้กำหนดให้ดูความเปลี่ยนแปลงของฐานะเฉพาะทรัพย์ที่มีขึ้นภายหลังการหย่า จึงต้องคำนึงถึงทรัพย์สินทุกชนิดที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีอยู่ขณะที่พิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงและโจทก์ยังมีที่ดินเนื้อที่ 80 ตารางวา พร้อมบ้านสองชั้น 1 หลัง ตั้งอยู่ที่แขวงลาดพร้าวเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาโฉนดและภาพถ่าย เอกสารหมาย จ.2 และ ล.3ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินและบ้านดังกล่าวขณะโจทก์เบิกความเมื่อปี 2537 มีราคา 700,000บาท นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะโจทก์นำที่ดินและบ้านดังกล่าวไปจำนองค้ำประกันหนี้ของโจทก์ต่อธนาคารเมื่อปี 2532 ในวงเงิน 600,000 บาท ซึ่งโดยทั่วไปเป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารจะรับจำนองไว้ในราคาที่สูงเกือบเท่าราคาที่แท้จริงของทรัพย์นั้น ครั้นเวลาล่วงเลยมาอีกถึง 5 ปี ทรัพย์ดังกล่าวย่อมมีราคาสูงขึ้นอีก น่าเชื่อว่ามีราคาสูงกว่า 700,000 บาทมาก ส่วนจำเลยในขณะที่เบิกความปี 2537 มีรายได้แต่เฉพาะเงินเดือนเพียงอย่างเดียวจำนวนเดือนละ 15,380 บาท มีภริยาที่จะต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู 1 คน และมีบุตรอายุเพียง 13 ปี ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาอีก 1 คน นอกจากนี้ยังเป็นหนี้สหกรณ์กรมการปกครอง 120,000 บาท โดยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เป็นของตนเอง หากจำเลยต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือน เป็นเงินเดือนละ 5,383 บาทจำเลยจะเหลือเงินที่ต้องใช้จ่ายในครอบครัวเดือนละไม่ถึง 10,000 บาท และเหลือเวลารับราชการอีกเพียง 4 ปี เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบฐานะของโจทก์กับจำเลยแม้จะฟังข้อเท็จจริงว่า เรือประมงทั้งสองลำที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างว่าเป็นของโจทก์นั้นมีลำหนึ่งมิใช่ของโจทก์และบุตรของโจทก์อยู่ในระหว่างศึกษาต่อชั้นปริญญาโทในต่างประเทศก็ตาม ยังเห็นได้ว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ จึงถึงเวลาสมควรที่จะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน