คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยกำหนดให้พนักงานขับรถยนต์ส่วนกลางเข้าทำงานวันละ24 ชั่วโมง หยุดพักวันรุ่งขึ้น 24 ชั่วโมง ต่อมาจำเลยดำริ ให้เปลี่ยนเป็นทำงานเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง แต่พนักงานขับรถยนต์ของจำเลยขอให้กำหนดเวลาทำงานเช่นเดิม โดยอ้างว่าต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นซึ่งจำเลยก็ได้ตกลงยินยอมกำหนดเวลาทำงานของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ใช้บังคับได้ หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยในภายหลัง ก็ย่อมต้องถูกผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว การทำงานของโจทก์จึงมิใช่เป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติอันจะมีสิทธิเรียกเอาค่าล่วงเวลาจากจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย เงินสะสมเงินค่าจ้างที่จำเลยหักไว้เป็นค่าเสียหาย ค่าชดเชย และค่าทำงานเกินเวลาปกติ
จำเลยให้การว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงปลดโจทก์ออกจากงาน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินต่าง ๆ ตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่ขณะปฏิบัติงานอันเป็นการกระทำผิดระเบียบของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ส่วนค่าล่วงเวลาได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกมีว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่โจทก์ไม่มีสิทะิเรียกร้องค่าจ้างและค่าล่วงเวลานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าล่วงเวลาเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน เมื่อมีการทำงานนอกเวลาทำงานตามปกติ แม้จะได้มีข้อตกลงกันดังกล่าวก็เป็นข้อตกลงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วได้ความว่า เดิมจำเลยได้กำหนดให้พนักงานขับรถยนต์ส่วนกลางของจำเลยเข้าทำงานวันละ 24 ชั่วโมงและวันรุ่งขึ้นหยุดพัก 24 ชั่วโมงต่อมาจำเลยดำริให้เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานเป็นผลัด ๆ ละ 8 ชั่วโมงซึ่งเมื่อคำนวณค่าจ้างต่อวันแล้วพนักงานขับรถยนต์ของจำเลยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่พนักงานขับรถยนต์ของจำเลยประสงค์จะให้เป็นไปเช่นเดิมจึงได้ร้องขอต่อจำเลยขอให้กำหนดเวลาทำงานเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยอ้างว่าตนต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นซึ่งจำเลยได้พิจารณาแล้วตกลงยินยอมตามที่มีการร้องขอ ศาลฎีกาเห็นว่า การกำหนดเวลาทำงานวันละ 24 ชั่วโมงโดยให้พนักงานขับรถยนต์ของจำเลยได้หยุดพักในวันรุ่งขึ้นเป็นเวลา24 ชั่วโมง จำเลยได้กำหนดไว้ก่อนแล้วเมื่อจำเลยดำริให้มีการเปลี่ยนแปลงแต่แล้วก็หาได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นแต่ประการใดไม่กำหนดเวลาทำงานของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ใช้บังคับได้ กรณีหาใช่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยในภายหลังก็ย่อมต้องถูกผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว การทำงานของโจทก์จึงมิใช่เป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าล่วงเวลาจากจำเลยได้…”
พิพากษายืน.

Share